ออเจ้าเอย ว่าด้วยเรื่องเพลงไทยที่น่าฟัง ทางเพลงเด็ดขาดดีจริงๆ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ออเจ้าเอย เพลงไทยสมัยใหม่ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่องหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนสะดุดใจได้ตั้งแต่แรกฟัง ตามธรรมดานั้น ละครจะดีเด่นได้ก็ย่อมต้องมีองค์ประกอบที่ดีเสมอกัน เพราะละครคือภาคการกระทำ ส่วนเพลงประกอบละครคือภาคนามธรรม เป็นภาคจิตใจที่สื่อถึงความในใจของตัวละคร และเพลงเพลงนี้นักร้องร้องด้วยเสียงจริง ไม่ดัดเสียง เสียงจึงไม่หวาน แต่นั่นก็เพราะความในใจตัวละครหรือจิตใจคนนั้นไม่จำเป็นต้องหวาน แต่ควรจะเป็นความจริง

เพลงเพลงนี้แต่งดี น่าชื่นชม เพราะทางเพลงลูกเอื้อนไพเราะ ลูกเอื้อนรสแปลก มีความใหม่โลดโผน ท่อนอินโทรและท่อนฮุคไพเราะเสมอกัน เรียกว่าฟังเพราะตั้งแต่ขึ้นต้นเพลง ทางเพลงเด็ดขาด เหมือนทางมวย ใครที่ชอบดูการชกมวย ก็จะรู้สึกเป็นอย่างเดียวกันว่าชอบดูมวยที่ทางมวยดีแต่ยกแรก ชอบมวยประเภทที่เดินไปตะบันหมัดสวยๆ ให้ได้ชมกันในยกแรกเลยทีเดียว เพลงนี้ก็เหมือนกันมีครบเครื่อง ไพเราะตั้งแต่ต้นเพลง เหมือนชกถูกเป้าโดนใจคนฟังเหมือนกัน

บางความเห็นว่า เพลงประเภทมีเอื้อนนี้ บางครั้งทำเพราะคำร้องที่คิดแต่งขึ้นไม่ลงกับทำนองหรือจังหวะ แต่กับเพลงนี้ การเอื้อนมิได้เป็นอย่างนั้นเลย ทั้งการเอื้อน คำร้อง ทำนอง และจังหวะ ยืนอยู่ด้วยขาของตนเองได้ มีที่มีทางสวยงามด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม ไม่มีสิ่งใดเป็นส่วนเกินของสิ่งใดเลย

เพลงนี้ถูกแต่งให้มีจังหวะปานกลางเป็นพื้น แล้วนำทำนองบางส่วนมาขยายให้ช้าลง และบางส่วนยุบให้สั้นเข้าจังหวะเร็ว มีทั้งขยายและยุบในตำแหน่งถูกจุดที่เหมาะสม มีอัตราแตกต่างซับซ้อน เหมือนเพลงไทยเดิมไม่มีผิดแต่ทันสมัยกว่า จนคนในปัจจุบันก็ฟังไม่รู้ว่าไพเราะ เพลงแบบนี้ไม่ค่อยเห็นใครแต่งได้ในปัจจุบัน เพราะเพลงไทยเดิมที่เพราะๆ นั้นขาดตลาดไปนานแล้ว ไม่มีใครต่อยอดเพิ่มเลย

Advertisement

กลับมาเรื่องคำร้อง คำร้องในเพลงนั้นก็ลึกซึ้งเป็นการขยายเรื่อง ขยายความที่ซ่อนงำ ที่คิดคำนึงในจิตใจของตัวเอกของละครเรื่องนี้ที่ไม่ได้พูดถึง หรือตัวละครไม่เคยเอ่ยวาจาโดยตรงในละคร แต่มากล่าวไว้ในเพลงอย่างหมดเปลือก ซึ่งตัวละครด้วยกันเองก็ไม่รู้ รู้ได้แต่เฉพาะคนดู

ในหนังต่างประเทศชอบทำกันมาก ทั้งที่เพลงนั้นอาจจะไม่ตรงกับเนื้อเรื่อง แต่เพลงมุ่งกะเทาะเปลือกแสดงอารมณ์ของตัวละคร หรือเป็นคำเฉลยว่าตัวละครตัวนี้คิดอย่างไรในเบื้องลึกของจิตใจตัวละครตัวนั้น บอกใบ้หรือบอกกล่าวปรัชญาบางอย่างของนักเขียน หรือผู้แต่งเรื่องนี้ เพลงบางเพลงฟังแทบไม่รู้เรื่องว่าจะเป็นเรื่องเดียวกับเนื้อเรื่องที่แต่ง เช่นตัวละครบู๊ดุดัน แต่อารมณ์ในเพลงที่แสดงจิตใจของตัวละครนั้นกลับมีสมาธิและอ่อนโยน เนื้อเรื่องบางเรื่องพระเอกไม่พูดคำอย่างนี้เลย แต่ในเพลงต้องการสื่อว่าพระเอกคิดอยู่ตลอดเวลา เป็นความคิดในจิตใจที่ไม่ได้เอ่ยออกมา ในชุดเพลงก็อาจจะมีเพลงของนางเอกอีกที่แสดงความในใจเหมือนกันแต่ก็ไม่เคยพูดในละครอีกเช่นกัน เรียกว่าไม่พูดอย่างนั้นสักคำ เพราะในบทจงใจไม่ให้มีการพูด เช่น นางเอกตลกตะโลนรั่ว ม้าดีดกะโหลกเสียเหลือเกิน แต่ในใจจริงบริสุทธิ์ผุดผ่อง ละครก็จะเอามาสื่อออกทางเพลง เพลงในหนังต่างประเทศหลายเรื่องเป็นอย่างนั้น ละมุนดีไปอีกแบบหนึ่ง

นั่นคือในละครเรื่องเดียว มีทั้งภาคจิตใจและภาคการกระทำ ซึ่งคนไทยทำได้แล้วในละครไทยหลายเรื่องในปัจจุบัน

Advertisement

คนแต่งเพลงละครย้อนยุคชุดนี้คือใคร ผู้เขียนไม่ต้องกล่าวถึงให้ผู้อ่านพะวง แต่คิดว่าเพลงนี้ยึดเป็นเพลงครูได้อีก และเพราะเพลงชุดนี้สมบูรณ์แบบในความคิดของผู้เขียนเพราะสื่อได้ตรงกับที่ละครอยากสื่อ คิดว่าทางเพลงอย่างนี้ฝรั่งต้องชอบ หรือคนเอเชียบางประเทศก็ต้องชอบโดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียชอบเพลงประเภทลูกเอื้อน คนในประเทศลุ่มน้ำโขงชอบเพลงที่มีเอื้อน และจะให้ทำนายก็ได้ ฝรั่งต้องชอบแน่ซึ่งต่อไปก็คงรู้กันว่าฝรั่งชอบหรือไม่ตามอัตราการชมเพลงเพลงนี้

หลายคนไม่ชอบเพลงใช้แบบประเภทเทคนิคทางการใช้เสียงสูง พ่นน้ำพ่นไฟเหาะเหินเดินอากาศต่างๆ ซึ่งเมื่อได้ฟังเพลงนี้ก็คงจะถูกใจ เพราะเพลงนี้ฟังเรื่อยๆ สบายใจ แม้ว่าผู้ร้องและทำนองเพลงจะมีเทคนิคซับซ้อน แต่ผู้ร้องได้ประคองเสียงและคำร้องให้เรียบง่ายกลมกล่อมขึ้น คล้ายเพลงที่กล่อมเด็กนอน ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติของนักเขียนที่ดี ที่ทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย เพราะเทคนิคการร้องที่ใช้ในระดับสูงนั้นไม่จำเป็นจะต้องทำให้คนฟังแล้วเหนื่อยตามไปด้วย

การร้องเพลงก็เหมือนการเล่าเรื่อง ผู้ที่ร้องเพลงได้ดีก็คือผู้ที่เล่าเรื่องในเพลงนั้นได้อย่างน่าฟัง การร้องเพลงของนักร้องชุดนี้ โดยเฉพาะนักร้องชายนั้นเหมือนการเล่าเรื่อง ที่เมื่อเริ่มเล่าเรื่อง เสียงบางเบาสักหน่อย เป็นธรรมชาติของเรื่องที่ยังไม่ออกรสจัดแต่แรก เมื่อกลางเรื่องเสียงเริ่มเข้มขึ้นและท้ายเรื่องก็เหมือนเรื่องที่เล่าในตอนท้ายที่สุด ย่อมจะเข้มข้นและลึกซึ้ง เพื่อเน้นย้ำเรื่องทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวที่เล่ามาแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่หนักแน่นที่เพลงเพลงนี้จะพึงมี เพราะฉะนั้นเสียงในตอนท้ายเพลงจึงจะต้องสื่อแสดงอารมณ์ให้เคี่ยวเข้มข้นถึงที่สุด แต่นักร้องทำได้ดีตรงที่ไม่เคี่ยวเสียงเข้มข้นเกินไปจนน่ารำคาญ นักร้องชายที่ร้องเพลงนี้ใช้เนื้อเสียงจริง ไม่ดัดเสียง ทำให้ได้รสเสียงไปอีกแบบ ความจริงการใช้เนื้อเสียงจริงๆ ไม่ดัดเสียงนี้ก็เป็นมาตรฐานทั่วไปของการร้องเพลงลูกทุ่งด้วยเช่นกัน จึงเห็นว่าเพลงไทยเดิมและเพลงลูกทุ่งก็มีอุดมคติคล้ายกันในเรื่องไม่ดัดเสียง

ตรงนี้ย่อมแตกต่างจากเพลงป๊อปอยู่มากเพราะเพลงป๊อปไม่ถือเรื่องการดัดเสียง

ออเจ้าเอย ออเจ้าจะรู้หรือไม่ว่าข้าพเจ้าชอบเพลงนี้เสียจริง เพราะวิเคราะห์แล้วเพลงนี้อาจจะเป็นเพลงไทยร่วมสมัยที่หอบเอาความครบเครื่องของเพลงไทยเดิมมาด้วยในแบบที่ฟังง่าย คนยุคนี้ฟังได้ คนที่ไม่มีพื้นฐานเพลงไทยมาเลยก็ฟังได้ ฝรั่งฟังได้ ฟังเพลงนี้เพลงเดียวก็จะเข้าใจแก่นแท้เพลงไทยได้เลย น่าจะเป็นเพลงที่ทำให้คนต่างชาติเข้าใจเพลงไทยได้ในครั้งแรกที่ฟัง เป็นการขยายขอบเขตทางวัฒนธรรมให้ไกลไปอีก และคนไทยเองก็ได้ประโยชน์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่านั่งฟังเพลงเพลงเดียวกันได้ พูดตรงกันว่าไพเราะ ไม่ต้องมีความรู้ทางทฤษฎีเพลงไทยก็ฟังได้ ไม่ต้องเชื่อผู้เขียนว่าเพลงนี้มหัศจรรย์อย่างไร แต่ให้ตามดูกันต่อไป

เพลงประกอบละครนั้น ถ้าทำดีแล้วบางครั้งก็อาจจะอยู่ได้คงทนกว่าละครเพราะคนจะร้องไปอีกนาน เพราะการแสดงละครนั้นเป็นภาคการกระทำ ส่วนเพลงประกอบละครเป็นภาคนามธรรม

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image