นักโทษโลก… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ความเป็นคนหรือมนุษย์มีความต้องการของชีวิตในระดับพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ปรารถนาก็คือ อิสรภาพ เสรีภาพ การไม่ถูกจำกัดสิทธิ หน้าที่ในความเป็นพลเมือง การต้องโทษหรือการกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ ที่ตัวบทกฎหมายของแต่ละประเทศได้กำหนดไว้เป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องได้รับการรับโทษในต่างกรรมต่างวาระของประเทศนั้นๆ

มีข้อมูลหนึ่งจากศูนย์เพื่อการศึกษาด้านเรือนจำระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ได้มีตัวเลขของนักโทษที่ถูกตัดสินคดีความต่างๆ แล้วถูกจองจำในเรือนจำอยู่ทั่วโลกกว่า 10.35 ล้านคน ประเทศสหรัฐอเมริกามีนักโทษมากที่สุดในโลกที่ตัวเลข 2.2 ล้านคน อันดับที่ 2 คือประเทศจีน มีนักโทษ 1,667,354 คน ประเทศอินเดียมีนักโทษ 418,536 คน เมืองไทยเรามีนักโทษอยู่ทั่วเมืองไทย จำนวน 311,035 คน ประเทศอินโดนีเซีย มีนักโทษ 161,692 คน ประเทศเวียดนาม มีนักโทษ 142,636 คน ประเทศฟิลิปปินส์ มีนักโทษ 120,076 คน ประเทศปากีสถาน มีนักโทษ 80,169 คน ประเทศบังกลาเทศ มีนักโทษ 69,719 คน ประเทศไต้หวัน มีนักโทษ 63,737 คน ประเทศญี่ปุ่น มีนักโทษ 60,485 คน ประเทศเมียนมา มีนักโทษ 60,000 คน และประเทศมาเลเซีย มีจำนวนนักโทษเพิ่มจาก 137 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2559 มาอยู่ที่ตัวเลข 171 คน (มติชนรายสัปดาห์ 16-22 มีนาคม 2561 หน้า 108)

ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือบรรดานักโทษของประเทศจีนได้มีการควบคุมตัวก่อนพิจารณาคดีซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจของฝ่ายบริหารที่จะกระทำการหรือทำหน้าที่ในการควบคุมได้โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาโดยศาล สำหรับนักโทษในเมืองไทยเรามีตัวเลขจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ของเอเชีย มีสัดส่วนนักโทษ 461 ต่อประชากรแสนคนซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับ 10 ของโลกและเป็นลำดับที่ 1 ของเอเชีย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างคุกใหม่ที่เรียกว่า “กองมหันตโทษ” และให้สร้างตะรางใหม่มีชื่อเรียกว่า กองลหุโทษ คุก ใช้ควบคุมผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป และตะรางใช้ควบคุมผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือนลงมา ซึ่งทั้งสองหน่วยงานให้รวมเรียกว่า กรมนักโทษ สังกัดกระทรวงนครบาล ในปี พ.ศ.2444 หรือ ร.ศ.120 ได้โปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์” โดยมีพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นคนแรก

Advertisement

ปี พ.ศ.2479 ได้มีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ โดยมีอำนาจหน้าที่มีเรือนจำ การกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย การฝึกและอบรมเด็กดัดสันดาน ในส่วนภูมิภาคได้ให้มีเรือนจำประจำจังหวัดและเรือนจำประจำอำเภอ และได้มีการโอนย้ายกรมราชทัณฑ์ จากกระทรวงมหาดไทยมาสังกัดที่กระทรวงยุติธรรม มีเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานที่กักขังในสังกัดมีจำนวน 143 แห่งเพื่อรองรับจำนวนนักโทษกว่าสามแสนคน ทำหน้าที่ว่าด้วยกฎหมายการราชทัณฑ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา

เมืองไทยเรามีเรือนจำกลาง ที่ใช้คุมขังนักโทษที่มีคำพิพากษาแล้ว นักโทษเด็ดขาดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปถึงประหารชีวิต อาทิ เรือนจำกลางบางขวางและเรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษมีอำนาจในการควบคุมนักโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีมี 2 แห่งและไม่เกิน 15 ปีมี 28 แห่ง เรือนจำจังหวัดมีอำนาจคุมขังต้องโทษไม่เกิน 15 ปีมีจำนวน 49 แห่ง สำหรับเรือนจำจังหวัดตรังใช้ควบคุมจำคุกไม่เกิน 25 ปี นอกจากนั้นมีเรือนจำอำเภอใช้ควบคุมผู้ต้องโทษที่ไม่เกิน 10 ปี

สำหรับทัณฑสถาน เป็นสถานที่ควบคุม กักขังที่ได้รับคัดแยกประเภทแล้ว มีการบำบัดรักษา การอบรมแก้ไข การฝึกอาชีพ อาทิ หญิง วัยหนุ่ม บำบัดพิเศษ มีจำนวน 25 แห่ง มีทัณฑสถานที่ต้องรับโทษประหารชีวิต สองแห่งคือ ทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีสถานกักขังที่มีโทษกักขัง 5 แห่ง อาทิ ลำปาง ตราด ปทุมธานี ร้อยเอ็ดและนครศรีธรรมราช

ในอดีตสมัยที่มีกฎหมายตราสามดวง ที่รัชกาลที่ 1 ที่ได้โปรดเกล้าฯให้รวบรวมกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีมาประมวลไว้ด้วยกัน มีโทษประหารชีวิตในสมัยนั้นก็คือ “จากพระไอยการ ลักษรโจร กล่าวถึงการลักพระพุทธรูปเอาไปล้างหรือเผา สำรอกเอาทองหรือเอาพระบท (พระคัมภีร์) ไปสำรอกแช่น้ำ หรือเอาไปเผา โทษประหารคือเอาโจรนั้นใส่เตาเพลิง สูบเผาไฟ ถ้าขุดทำลายพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ จับได้หลายครั้งหลายตน โทษประหารก็คือเอาโจรนั้นไปตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วันแล้วตัดคอผ่าอกเสีย…”

ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในรัชกาลปัจจุบันให้ไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 มีทั้งหมด 78 มาตรา มีโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีใช้เข็มฉีดยาแทงเข้าที่เส้นเลือดใหญ่หลังมือทั้งสองข้างแล้วมีสายต่อท่อเข้าเข็มแล้วโยงไปยังเครื่องฉีดยาเมื่อได้เวลากำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่ 2 คนอยู่ในห้องปล่อยยาเข้าร่างกาย เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็จะไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ที่ปล่อยยาเข้าเส้นเลือดผู้ที่ถูกประหารชีวิต หลังจากนั้นก็จะมีแพทย์ ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้แทนจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะเป็นผู้ตรวจยืนยันถึงการตายจะใช้เวลาในการประหารชีวิตด้วยวิธีการดังกล่าวไม่เกินสามสิบนาที…

สำหรับการประหารชีวิตในจีน คดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และยาเสพติดก็จะลงโทษด้วยการฉีดยาให้ตายสำหรับคดีฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมทารุณหรือข้าราชการที่ทุจริตต่อหน้าที่ก็จะยิงเป้าให้ตาย ประเทศอินเดียมีทั้งการแขวนคอและยิงเป้าให้ตาย สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีการประหารชีวิตด้วยวิธีการที่หลากหลายอาทิ การฉีดยาให้ตายใน 35 รัฐ มีประหารโดยนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า 8 รัฐ มีประหารชีวิตด้วยการรมก๊าซมีใน 3 รัฐ มีการแขวนคอให้ตายอยู่ใน 3 รัฐและมีการยิงเป้าให้ตายมีอยู่ใน 2 รัฐ สำหรับประเทศอินโดนีเซียมีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าให้ตาย ประเทศเวียดนามให้การฉีดยาพิษในการประหารชีวิต ประเทศญี่ปุ่นมีการประหารชีวิตด้วยวิธีการแขวนคอ

ในสังคมโลกมีบางประเทศที่ได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต อาทิ บรูไน ลาว มัลดีฟส์ พม่า นาอูรู ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ ศรีลังกา และตองกา หลักการแนวคิดในการยกเลิกโทษประหารชีวิตก็เนื่องด้วยเห็นว่า คนบางคนมีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นบางอย่างอาจจะมิได้เป็นอาชญากรโดยกำเนิด อาทิ แนวคิดด้านอาชญาวิทยาปฏิฐานนิยม กรณีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินจะเกิดขึ้นในพื้นที่ของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี อาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นในที่คนยากจน หรือแม้กระทั่งอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายมักจะเกิดในพื้นที่เขตร้อน ขณะเดียวกันอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินจะเกิดขึ้นในพื้นที่อากาศหนาว หลักทฤษฎีดังกล่าวเรียกว่า กฎอุณหภูมิของอาชญากรรม…

นอกจากหลักการดังกล่าวแล้วยังมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอาชญากรก็คือ มาจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษ จากความตึงเครียด การจัดระเบียบของสังคม ความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง และอื่นๆ ในหลักการของประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ได้ให้แนวคิดถึงประโยชน์สูงสุดสำหรับคนจำนวนมากที่สุด หมายถึง การลงโทษควรมีแนวทางของการข่มขู่ยับยั้ง อาทิ มีการลงโทษด้วยความรวดเร็ว มีความแน่นอนและมีความเคร่งครัด อาจจะรวมถึงแนวคิดที่ว่า “ไม่มีอาชญากรรมถ้าไม่มีกฎหมาย” ศาลเป็นเพียงผู้พิจารณาพิพากษาคดี ไม่ควรมีอำนาจในการกำหนดอัตราโทษ

การกำหนดอัตราโทษควรเป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการของสัญญาประชาคม…

การกระทำความผิดอันเป็นพฤติกรรมของคนที่ยังมีกิเลสที่มิพึงประสงค์ต่อบุคคลอื่นหรือสังคม ย่อมทำให้ผู้อื่นและสังคมได้รับความเดือดร้อน คนไม่ดี โจรหรืออาชญากรที่กระทำอาชญากรรมยังคงมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในโลก ในครั้งพุทธกาลก็มีหลายๆ เหตุการณ์ บุคคลที่ได้ถูกบันทึกไว้ให้เราท่านได้ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง อาทิ องคุลีมาล ที่มีการฆ่าคนจำนวนมากเพื่อต้องการนิ้วมือเนื่องด้วยขาดปัญญามีอวิชชารวมถึงเกี่ยวเนื่องกับบุคคลสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

สังคมไทยเราก็มีการกระทำความผิดที่มิได้มีความแตกต่างจากผู้คนกระทำความผิดแล้วต้องรับโทษถูกจองจำอยู่ในเรือนจำอยู่ทั่วโลกจากหลายกรณี อาทิ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น โดยคนมีความต้องการอย่างหลากหลายทั้งม้า มวย หวย เซ็กซ์ ทั้งระดับชาวบ้านทั่วไป นักการเมือง คนรวยที่มีทรัพย์สินของตนเองเป็นจำนวนมาก เราท่านอาจจะเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้เล่าขานเกี่ยวกับโจรปล้นจี้ในสมัยก่อนนั้นเขาจะปล้นจี้เฉพาะคนรวยหรือเศรษฐีแล้วนำทรัพย์สินนั้นไปแบ่งให้แก่คนยากจน มีข้อปฏิบัติสำหรับโจรก็คือจะไม่ฆ่าคนแก่ชรา เด็ก คนพิการ และจะนำทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้ให้เจ้าของบ้านไว้ใช้มิให้เดือดร้อน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีความตรงกันข้ามกับคนที่เป็นอาชญากรในสมัยปัจจุบัน

ชีวิตของผู้เขียนเองมีหลายครั้งคราที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปบรรยายในเรือนจำอยู่หลายแห่ง บรรยากาศทั่วไปก็คือสถานที่ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพื้นที่มิได้กว้างขวางมากนัก นักโทษหรือผู้กระทำความผิดที่ถูกจองจำอยู่ในสถานที่ดังกล่าวมิได้รับความสะดวกเสมือนอยู่บ้านและครอบครัวตนเอง มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดจะต้องปฏิบัติตามตารางของแต่ละเวลาอย่างชัดเจน การถูกจองจำในสถานที่ดังกล่าวก็มีนัยยะสำคัญอยู่หลายอย่าง อาทิ เพื่อความหลาบจำที่จะไม่กระทำความผิดในครั้งต่อไป

ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่เราท่านรับทราบกันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ จะมีนักโทษส่วนหนึ่งที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิดที่แท้จริง แต่ด้วยกระบวนการทางกฎหมายและการพิจารณาคดีที่เราท่านเรียกว่า แพะ ซึ่งหลายๆ คนที่อยู่ในกรณีดังกล่าวที่สื่อได้นำเสนอในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ในเรือนจำหรือสถานที่ดังกล่าวมีเรื่องราวที่ถูกนำเสนอในข้อเท็จจริงให้เรารับรู้ก็คือ ยังมีการสุ่มตรวจจับยาเสพติดชนิดร้ายแรงของประเทศ การสักยันต์ด้วยลวดลายอันประณีต ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนหนึ่งก็ได้รับพฤติกรรมเสี่ยงจากสถานที่ดังกล่าว เนื่องจากต้องอยู่ในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลานาน สิ่งหนึ่งที่เราท่านชื่นชมก็คือ ฝีมือของสินค้าราชทัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่มีคุณภาพจากเขาเหล่านั้น…

เมืองไทยเรานับว่าโชคดีอย่างหนึ่งก็คือ การพระราชทานอภัยโทษ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนักโทษมีความประพฤติอยู่ในระดับดี นอกจากนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงงานมีโครงการให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็กให้เขาได้มีอาชีพหลังพ้นโทษไปแล้วจะได้ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก พระเมตตาดังกล่าวเราท่านรับทราบเป็นอย่างดีนี่คือ สังคมไทยที่น่าอยู่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image