กลุ่มขบวนการติดอาวุธ‘ARSA’ ในสงครามอสมมาตร

ภาพการออกแถลงการณ์ของ ARSA ที่มา https://www.aljazeera.com/news/2017/09/myanmar-arakan-rohingya-salvation-army-170912060700394.html

ในขณะที่สายตาจากทั่วโลกจับจ้องการสืบสวนกรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกันจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้คนพร้อมกับภาพคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาลจากพม่าไหลบ่าเข้าสู่ชายแดนประเทศบังกลาเทศนั้น ในมิติของการเมืองระหว่างประเทศกระบวนการยกระดับไต่สวนเรื่องราวดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้น

โดยเฉพาะการพิสูจน์สถานะของความรุนแรงว่าสามารถยกระดับจากการกวาดล้างทางเผ่าพันธุ์ไปสู่การใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ได้หรือไม่

ซึ่งความแตกต่างของทั้งสองคำนี้นั้น ในคำหลังจะมีความหนักแน่นและสามารถนำไปสู่การเอาผิดต่อผู้สั่งการได้มากขึ้นเป็นลำดับ

ในอีกด้านหนึ่งฝ่ายรัฐพม่า มีการเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเน้นย้ำเหตุผลการเข้ากวาดล้างพื้นที่ชุมชนของชาวมุสลิมโรฮีนจาว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการกวาดล้างการก่อการร้าย ผ่านการเน้นย้ำชี้ชวนให้เห็นว่ากลุ่มขบวนการติดอาวุธที่มีชื่อว่า ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) อยู่เบื้องหลังความรุนแรงและยั่วยุจนนำไปสู่ยุทธการกวาดล้างครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชายแดนพม่าในฟากตะวันตก

Advertisement

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่สามารถอธิบายเพียงการรับฟังหรือพิจารณาจากเหตุผลของฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่มิติหนึ่งที่มีความน่าสนใจ นั่นคือการตั้งคำถามว่า ในสงครามอสมมาตรที่กำลังดำเนินอยู่นั้น เราจะสามารถพิจารณาสถานะของกลุ่มขบวนการติดอาวุธโรฮีนจาได้อย่างไร

สื่อเครือข่ายทางสังคมกับการสร้างและปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย

การดำรงอยู่ของกลุ่มติดอาวุธทั่วโลกในปัจจุบัน การใช้สื่อที่มีลักษณะสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายทางอุดมการณ์ในการสร้างเอกภาพเพื่อการต่อสู้ด้วยอาวุธนั้นคือลักษณะที่สำคัญ
และเป็นกลยุทธ์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นจากการต่อสู้ในสภาวะความขัดแย้งที่เรียกว่า “สงครามอสมมาตร”

Advertisement

นั่นคือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่มีความเข้มแข็งกับฝ่ายที่อ่อนแอซึ่งมีช่องว่างด้านสถานะของกำลังรบที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

กล่าวได้ว่า การใช้สื่อเครือข่ายทางสังคมในปัจจุบันเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำสงครามทางจิตวิทยาของฝ่ายที่อ่อนแอกว่าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการหามวลชนเข้ากลุ่มของตัวเอง อีกทั้งการทำลายสถานะความมั่นใจของฝ่ายรัฐด้วยในขณะเดียวกัน

ภาพคลิปวิดีโอแสดงการฝึกอาวุธของโรฮีนจาที่ถูกปล่อยออกสู่สาธารณะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันพร้อมกันกับการออกแถลงการณ์ของฝ่ายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มติดอาวุธ ARSA ซึ่งมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อปกป้องชาวโรฮีนจานั้น

กลายเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ฝ่ายรัฐเชื่อว่า การก่อกำเนิดและขบวนการเคลื่อนไหวของชาวโรฮีนจามีอยู่จริง

ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามนำเสนอหลักฐานจากการปราบปรามทั้งอาวุธและตัวบุคคลจากฝ่ายรัฐพม่านั้นมิได้นำเสนอผ่านสื่อปกติเท่านั้น หากแต่ยังนำถ่ายทอดและเผยแพร่ผ่านสื่อเครือข่ายทางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้จึงเป็นกระบวนการที่ก้าวผ่านการใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองฝ่ายจากความชอบธรรมในการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามสู่ “การสร้างความจริงชุดใหม่” โดยเฉพาะการสร้างภาพตัวแทนของ ARSA ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มก่อการร้ายและอุดมการณ์ต่อต้านฝ่ายรัฐพม่า

ภาพทวิตเตอร์ของ ARSA
ที่มา https://twitter.com/arsa_official?lang=en

การประดิษฐ์เรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์กับความพร่ามัวของ
“ความจริง”

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของ ARSA จึงไม่สามารถทำความเข้าใจที่สิ่งที่รับรู้ผ่านเครือข่ายทางสังคมได้แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากสิ่งที่ถูกผลิตออกมาจากทั้งสองฝ่ายนั้น
ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความชอบธรรมในการรับรู้ความจริงในสงครามกลางเมืองหรือเรียกกันเป็นการเฉพาะว่า “เรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์” กล่าวคือ ในมุมของรัฐ การประดิษฐ์หรือสร้างความจริงในการกำหนดหรือดำเนินงานทางด้านยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่จะต้องมีการนำงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติการปราบปรามภัยต่อความมั่นคงของรัฐนั้น กระบวนการชี้ชวนให้เห็นถึงสถานะของสิ่งที่เป็น
ภัยล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการผ่องถ่ายสิ่งที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยที่ไปอยู่ในระบบคิดของฝ่ายประชาชน

ในลักษณะเช่นนี้จึงพบว่าหลายกระบวนการกลไกของฝ่ายรัฐพม่าเองพยายามหยิบยกให้เห็นท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของมุสลิมโรฮีนจาต่อความมั่นคงของพม่า โดยเฉพาะการตอกย้ำสถานะให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางศาสนาที่สุดโต่งและการปฏิเสธความทรงจำร่วมในระดับรัฐที่ไม่มีโรฮีนจาร่วมในความทรงจำนี้แม้กระทั่งการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ

การกำหนดสถานะขอบเขตความจริงให้โรฮีนจาไม่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จึงกลายเป็นกลไกการสร้างเรื่องเล่ายุทธศาสตร์ในการใช้ปฏิบัติการด้านการทหารได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่รัฐอาระกัน

กลไกการกำหนดเรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในการสร้างการรับรู้ความจริงในกระบวนการเปลี่ยนผ่านชื่อเรียกของความรุนแรงในรัฐอาระกันให้ยกระดับขึ้นสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างกลไกเรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์ในระดับสากลของรัฐพม่านั้น ยังไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่จากการรับรู้จากประชาคมระหว่างประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เนื่องด้วยความจริงอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผ่านเครือข่ายทางสังคมโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนก็ถูกส่งผ่านให้กับสังคมภายนอกด้วยเช่นเดียวกัน

การหาทางออกกับฝ่ายรัฐเพื่อสร้างเรื่องเล่าให้เกิดความน่าเชื่อถือจึงกระทำผ่านการส่งต่อแง่มุมการเจรจาในเวทีสำคัญทางการทูต เช่น ท่าทีของออง ซาน ซูจี ในการประชุมระหว่างประเทศที่มักมีการหยิบยกคำอธิบายต่อความจำเป็นที่ต้องใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกัน หรือแม้แต่กระทั่งท่าทีของ พล.อ.มิน อ่อง ล่าย ในการพูดโครงสร้างเรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์เดียวกันในการเยือนประเทศไทยในครั้งล่าสุด

สิ่งที่น่าสังเกตคือ การรับข้อมูลแต่ฝ่ายรัฐพม่าแต่เพียงอย่างเดียวจึงกลายเป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความเข้มแข็งและมีอิทธิพลขึ้นทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจต่อฝ่ายที่กำหนดท่าทีต่อรัฐพม่า ในช่วงขณะที่ทุกตัวแสดงอยู่ในขั้นตอนการปรับความสัมพันธ์กับรัฐพม่าในกระแสกดดันประเด็นสถานะความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ภาพการอพยพเข้าสู่ชายแดนบังกลาเทศ
ที่มา http://www.scmp.com/week-asia/geopolitics/article/2109386/myanmar-has-new-insurgency-worry-about

ARSA ในการรับรู้ของผู้ลี้ภัย
การช่วงชิงสถานการณ์รับรู้การดำรงอยู่ของ ARSA นั้นมิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในระดับรัฐและการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่การช่วงชิงพื้นที่ดังกล่าวยังเกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจาของชายแดนฝั่งบังกลาเทศด้วยเช่นเดียวกัน ในด้านหนึ่ง “คนภายนอก” มักพยายามเข้าไปเจาะหาความจริงภายในค่ายผู้ลี้ภัยถึงการมีอยู่จริงของ ARSA ผ่านการหาบุคคลสำคัญที่สามารถให้คำสัมภาษณ์จนนำไปสู่การอนุมานได้ว่ากลุ่มขบวนการติดอาวุธเหล่านั้นมีอยู่จริง

สิ่งที่น่าสนใจ ค่ายผู้ลี้ภัยจึงกลายเป็นสถานที่ที่การค้นหาความจริงของ ARSA นำไปสู่การสร้างความสะเทือนและหวั่นไหวให้กับความปลอดภัยของตัวผู้ลี้ภัยเอง หรือแม้แต่กระทั่งการให้ที่พักพิงของรัฐปลายทาง
อย่างบังกลาเทศ กระบวนการสร้างการรับรู้อีกแบบจึงเกิดขึ้นในค่าย
ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะการตั้งคำถามกลับว่า ARSA มีอยู่จริงหรือไม่

หรือแม้กระทั่ง หากมีอยู่จริงแล้วกลุ่มขบวนการติดอาวุธเหล่านั้นเป็นตัวแทนของโรฮีนจาทั้งหมดจริงหรือไม่

การสร้างคำอธิบายเพื่อโต้กลับต่อเรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์จึงกลายเป็นอีกมิติหนึ่งในการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ ตัวอย่างที่สำคัญนั่นคือ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งอธิบายว่า “หากโรฮีนจามีกองกำลังติดอาวุธอยู่จริง แล้วเราจะหนีมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยนี้ทำไม” ซึ่งการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวนี้กลับมีนัยยะสำคัญคือ ARSA ในพื้นที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งหากมีกลุ่มดังกล่าวแล้ว

เขาผู้นี้มั่นใจว่ากองกำลังดังกล่าวจะปกป้องตัวเองได้ อีกนัยหนึ่ง การคำนึงถึงการมีอยู่กองกำลังของตัวเองของโรฮีนจากลายเป็นหลักประกัน หากแม้นว่ารัฐที่เขาอาศัยอยู่นั้นไม่สามารถปกป้องตัวของเขาได้ ในท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะของพลเมืองธรรมดา ความปลอดภัยในชีวิตกลายเป็นมิติแรกที่พลเมืองคำนึงถึงมากกว่าการขับเคลื่อนและปลุกระดมอุดมการณ์ชาติพันธุ์-ศาสนาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน สอดคล้องการรับรู้ของรัฐบังกลาเทศ

การสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยอันเกิดจากผลกระทบเรื่องเล่าทางยุทธศาสตร์กลับทำให้มีมาตรการควบคุมค่ายผู้ลี้ภัยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการเพิ่มเจ้าหน้าฝ่ายข่าวกรองและความมั่นคงมากกว่า 1,500 คนในชั่วระยะเวลาอันสั้น เพื่อควบคุมการเข้า-ออกในบริเวณค่ายซึ่งส่งผลให้เกิดความกดดันให้กับผู้ลี้ภัยไปโดยปริยาย

ภาพการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงพม่า
ที่มา http://www.bbc.com/news/world-asia-41160679

ด้วยเหตุฉะนี้วงจรการประกอบสร้างการรับรู้เรื่อง ARSA ผ่านสงครามอสมมาตรที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจึงมิได้ผูกขาดจากฝ่ายรัฐได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ผลกระทบจากความรุนแรงและสงครามกำลังทำให้การรับรู้กลับเปลี่ยนแปลงเกินกว่าจะคาดเดาก็เป็นได้

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
โครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ (CSEC)
คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image