บทนำ : เดินหน้า-ถอยหลัง

 

สังคมกำลังสนใจข่าวดูดดึงนักการเมืองเข้าพรรค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดูดมีมานาน มีทุกพรรค อาจจะเป็นครรลองของการเมืองไทยไปแล้ว ขึ้นกับว่าทำเพื่อใคร ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ที่ระบุว่า หากต้องการสร้างการเมืองแบบใหม่ ก็ไม่ควรใช้แนวทางเดิม เช่น การรวบรวมนักการเมือง กลุ่มทุน เข้ามาในพรรคแล้วมีผลประโยชน์ต่อกัน แม้การดึงนักการเมืองเข้าไปอยู่ด้วยจะเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรมีการข่มขู่ คุกคาม ต่อรองผลประโยชน์ ที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดประสบความสำเร็จด้วยการรวบรวมคนโดยให้ผลประโยชน์ตอบแทน สุดท้ายจะจบที่มาทุจริต คอร์รัปชั่น และรัฐประหาร

นายอลงกรณ์กล่าวว่า พรรคที่จะสนับสนุนหัวหน้า คสช. ต้องตั้งลำให้ดี ว่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งด้วยแนวคิดใหม่หรือจะใช้วิธีการเดิมๆ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปประเทศ ได้สร้างแนวทางการเมืองใหม่ไว้แล้ว เช่น ระบบไพรมารีโหวต ที่พรรคการเมืองเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ผู้สมัครรับเลือกตั้งมาจากฐานการสนับสนุนจากประชาชน ไม่ได้มาจากฐานนายทุนพรรค หรือผู้มีบารมีทุกพรรคต้องหาช้างเผือกของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงในจังหวัดต่างๆ ถ้าจะเดินหน้าการเมือง ก็ไม่ควรเดินหลงทาง อย่าสร้างการเมืองโดยการรวบรวมกลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพล รวมถึงนักการเมืองที่มีประวัติไม่โปร่งใส มิเช่นนั้นจะเกิดระบบอุปถัมภ์ในธุรกิจการเมือง แล้วรับใช้กลุ่มทุนทางการเมืองมากกว่ารับใช้ประชาชนและประเทศชาติ

ในสถานการณ์ที่การเลือกตั้งรออยู่ และชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นเดิมพันที่ไม่มีใครอยากสูญเสีย ดังนั้น คงยากที่จะหยุดกระบวนการดึงตัว ส.ส. หรือนักการเมืองได้ แม้จะอ้างเจตนาดีว่าทำเพื่อส่วนรวม และมารวมกันด้วยแนวคิดที่ตรงกันและหวังดีต่อประเทศชาติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีอำนาจขึ้นมาแล้ว อาจมีการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ คสช.ชูแนวคิดปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ควรตรวจสอบว่า การเมืองที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ ดำเนินไปตามแนวทางของการปฏิรูป หรือถอยกลับไปสู่การเมืองเดิม ที่เป็นข้ออ้างของการรัฐประหารที่่ผ่านมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image