คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ : ท้วงติง หรือ ทิ้งตัว? โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

เราลองมาคิดดูกันเล่นๆ นะครับ เป็นการทดลองด้วยความคิด สมมุติว่าคุณเกิดมาเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ในยุคนั้นการแสวงหาสัจจะความจริงของชีวิตเป็นสิ่งที่อินเทรนด์นะครับ เพราะมีการเปิดสำนัก “กวดวิชา” ของพราหมณ์เอย ชฎิลเอย ปริพาชกเอย เพื่อที่กล่าวอ้างว่าความรู้ของตนในเรื่องจักรวาลวิทยานั้นเป็นสัจจะความจริง

เอาล่ะ คราวนี้สมมุติว่าคุณได้ข่าวว่าสมณโคดมเดินทางมาพักแถวไม่ไกลบ้าน ด้วยเจตนาแรงกล้าที่จะบรรลุธรรม และต้องการจะได้รับอิสรภาพอันสูงสุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี คุณจึงเดินทางเพื่อไปพบท่าน สิ่งแรกที่คุณจะเห็นเมื่อเดินเข้าไปในสำนัก หรือที่พักของสงฆ์เหล่านั้นก็คือคนโกนหัวจนล้านเลี่ยน และนุ่งห่มด้วยผ้าเก่าๆ ย้อมเองด้วยมือ ถ้าคุณเป็นคนสมัยนี้ สิ่งแรกที่จะทำก็อาจจะเป็นหันหลังกลับแล้วรีบเดินออกจากที่นั่นโดยพลัน

เป็นเช่นนั้นหรือเปล่าครับ?

ย้อนแย้งไหมครับ ในสำนักที่โปรโมตว่าจะทำให้คุณเป็นอิสระเหนืออิสรภาพใดๆ แม้แต่ตัวตนของคุณเอง แต่ทุกคนที่นั่นกลับต้องไว้ผมทรงเดียวกัน และมีเครื่องแบบที่จะต้องใส่เหมือนๆ กัน เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกฎเกณฑ์อันมากมายเป็นสองร้อยสามร้อยข้อที่จะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด สงสัยไหมครับว่าทำไมเส้นทางไปสู่อิสรภาพจึงต้องทำผ่านการ “บังคับ” ให้ทำตามๆ กันไป

Advertisement

คำถามก็คือ ถ้าเราต้องการจะฝึกฝนตนเองในทางจิตวิญญาณอย่างยิ่งยวด เราจะต้องไปทางไหน?

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องศิโรราบกับกฎเกณฑ์ กับระเบียบวิธี กับกระบวนการ กับตัวคุรุผู้สอน

คำถามก็คือ ต้องศิโรราบกับอะไรสักอย่างไหม เราจึงจะสามารถบรรลุถึงศักยภาพที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางจิตวิญญาณของตนเองได้?

Advertisement

คำถามต่อมาก็คือ ถ้าหากคุณเลือกที่จะสมาทานการปฏิบัติของสำนักศิลปวิทยาการทางจิตแห่งหนึ่ง แล้วก็จะมีคนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ลงมือปฏิบัติ แต่คอยวิจารณ์อยู่ภายนอก เท่านั้นยังไม่พอ ยังท้วงติงการปฏิบัติของคุณว่ายังไม่เป็นไปเพื่อไปถึงที่สุดของการบรรลุ แบบนี้จะทำอย่างไร

คนทุกคนเมื่อลงทุนไปแล้วก็ย่อมปกป้องการลงทุนของตนเอง ดังนั้น ผู้ที่ลงมือปฏิบัติก็จะออกมาโจมตีผู้ที่ไม่ปฏิบัติว่าเป็นเพราะ “ไม่ปฏิบัติจึงไม่รู้” ส่วนผู้ที่ศึกษาในหลักวิชาก็จะชี้แจงว่า “ที่ปฏิบัติอยู่นั้นมันผิด” ตามหลักวิชา

ข้อถกเถียงสำหรับนักปฏิบัติกับนักหลักวิชาก็จะดำรงอยู่อย่างนี้เป็นคู่ขนานไปอีกนาน

ที่ผมคิดวนเวียนกับเรื่องนี้ก็เป็นเพราะผมคิดถึงคนรุ่นใหม่ ที่กำลังก้าวเข้าสู่หนทางการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ เขาจะไปทางไหนในโลกที่ “ตลาดทุนทางจิตวิญญาณ” เปิดกว้างเหลือเกิน เขาสามารถที่จะเลือกเรียนพุทธศาสนา หรือศาสนาไหนๆ ก็ได้ในแง่ของปรัชญา หรือเป็นแค่ระบบคิดโดยปลอดและปราศจากการปนเปื้อนของพิธีกรรม หรือเครื่องศรัทธาต่างๆ ที่ติดตามมาเป็นกระบุงโกย หรือเขาจะมุ่งไปที่ตัวครูบาอาจารย์โดยเข้าไปศิโรราบกราบกราน ถวายตัวถวายงานกับอาจารย์ หรือออกเดินทางไปแสวงบุญโดยการ อัษฎางคประดิษฐ์เป็นพันๆ ครั้ง หรือลาออกจากงานแล้วเดินทางโดยไม่เอาเงินติดตัวไปจากเหนือจรดใต้ หรือมุ่งไปหาหนังสือดีๆ สักชุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะต้องบรรจุปัญญาคมคายบางอย่างที่จะทำให้เขาเข้าไปใกล้ความจริงบางอย่างมากขึ้น

ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ตาม ผมเชื่อว่าในที่สุด คำถามนี้จะวนเวียนกลับมาหาเขา

จะต้องศิโรราบกับอะไรไหม?

และอะไรที่ควรต้องศิโรราบด้วย?

คำโบราณบอกว่า “ศิษย์มีครู เหมือนงูมีพิษ” คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีครูบาอาจารย์ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าจะสามารถรักษาอิสรภาพทางความคิดเอาไว้ได้ แต่ก็ขาดความมั่นใจบางอย่างที่ทำให้บางครั้งเกิดคำถามกับตัวเอง ครั้นจะหาความมั่นใจกับเพื่อนฝูง เมื่อมองไปรอบๆ ก็พบว่าตัวเพื่อนเองก็ยังเอาตัวไม่รอด แล้วจะไปพึ่งพาได้อย่างไร

ในยุคที่เราหาข้อมูลทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว คนรุ่นใหม่ระมัดระวังตัวที่จะไม่ “ตกไป” เป็นเครื่องมือทางความคิดของใคร แต่ในขณะเดียวกันก็โหยหาการสร้างการรวมพลังอันยิ่งใหญ่ของ “พวกเรา” แต่ถ้ากลับไปอ่านย่อหน้านี้ดูใหม่ ก็จะพบว่าทั้งสองนั้นไปด้วยกันไม่ได้ เพราะภราดรภาพจะไม่อาจจะตั้งอยู่บนความง่อนแง่นทางจิตวิญญาณและจะทำไม่ได้โดยท่องบ่นคำว่า “อดทนต่อความแตกต่าง” หรือ “ต่าง ไม่ แตก”

ในยุค 1980 มีคนรุ่นใหม่เดินทางไปที่วาสโก เคาน์ตี้ สหรัฐอเมริกา เพื่อต้องการเป็นสัตยาสินของ
ศรี ราชนีษ หรือที่เรารู้จักในชื่อโอโช พวกเขายอมละทิ้งตัวเองและศิโรราบต่อคุรุของเขา คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมดเนรมิตเมืองในฝันขึ้นมาจากฟาร์มปศุสัตว์ที่กำลังจะถูกทิ้งร้าง ในเมืองที่ไม่มีใครเหลียวแล เพียงเพื่อที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างสลายไปต่อหน้าต่อตาในเวลาต่อมา มันเป็นความผิดของคนรุ่นใหม่หรือที่ต้องการจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณใหม่ๆ ไม่ผิดหรอกครับ แต่เมื่อความจริงอันอัปลักษณ์ต่างๆ ได้เปิดเผยออกมาแล้วยังเหลืออะไรให้เป็นแนวทางชีวิตของพวกเขาบ้าง และเขาได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้นบ้าง

ผมคงตอบคำถามให้กับคนรุ่นใหม่ไม่ได้จริงๆ ว่าเขาควรจะวางตัวอยู่ตรงไหนระหว่าง การ “ท้วงติง” หรือการ “ทิ้งตัว”

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image