ลิสต์ 20 ร.ร.ทำจราจรกรุงติดหนึบ รถไฟฟ้าผสมโรง บช.น.รับมือ ‘เปิดเทอม’

พูดถึงปัญหาที่สังคมไทยมักจะเจออยู่มาอย่างยาวนานบนท้องถนน และยังแก้ปัญหาไม่ได้ นั่นคือ ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครต่อเนื่องยาวไปเขตปริมณฑล

ยิ่งไม่กี่วันข้างหน้าสถานศึกษาหลายแห่งต้องเปิดภาคเรียนการศึกษาประจำปี พ.ศ.2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่สัญจรอยู่บนท้องถนนเพื่อให้ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบจากการจราจรน้อยที่สุด จึงให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) วางนโยบายแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงเปิดภาคเรียน โดยมอบหมาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผบช.น. (ควบคุมงานจราจร) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกการจราจรเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน

แต่ทาง บช.น.ให้สถานีตำรวจ (สน.) แต่ละพื้นที่สำรวจปัญหาที่จะเกิดผลกระทบกับการจราจร

พบว่า เมื่อพ่อ-แม่ ผู้ปกครองมาส่งบุตรหลาน พบว่าสถานศึกษาเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อการจราจร มีอยู่จำนวน 20 ลำดับ ประกอบด้วย โรงเรียนราชินีบน เซนต์คาเบรียล เซนต์ดอมินิก สตรีวิทยา สามเสนวิทยาลัย อนุบาลสามเสน เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ มาแตร์เดอีวิทยาลัย วัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ (ประถม) อัสสัมชัญ (มัธยม) อัสสัมชัญคอนแวนต์ สวนกุหลาบ ราชินี เตรียมอุดมศึกษา สาธิตปทุมวัน ศึกษานารี หอวัง และสุรศักดิ์มนตรี ตามลำดับ

Advertisement

บช.น.มีขั้นตอนการเตรียมวิธีรับมือกับปัญหาจราจรกับผลกระทบที่จะเกิด โดยออกสำรวจสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงวันเปิดภาคเรียน เวลาเข้า-เลิกเรียน วันปฐมนิเทศ หรือวันประชุมผู้ปกครองของสถานศึกษาแต่ละแห่ง

พร้อมประสานขอความร่วมมือจากสถานศึกษา และผู้ปกครอง ในการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจร และตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่จำเป็นสำหรับภารกิจให้มีความพร้อม รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นหากเกิดฝนตก น้ำท่วมขัง และตรวจสอบกำลังพลฝ่ายจราจรให้อยู่ในสภาพพร้อมปฏิบัติเต็มอัตรา โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปิดภาคการศึกษา

นอกจากนั้นยังประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมา ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบนผิวการจราจร ให้จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่กีดขวางการจราจร ปรับปรุงผิวการจราจรให้มีมาตรฐาน และคืนผิวการจราจรให้มากที่สุด หรือเลือกดำเนินการเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนหากสามารถกระทำได้ และยังสำรวจเส้นทางสำรองที่จะใช้รองรับเมื่อเกิดปัญหาการจราจร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว และประสานหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาการจราจรร่วมปฏิบัติและสนับสนุนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร

Advertisement

นอกจากนี้ ทาง บช.น.ยังมีแผนขั้นการปฏิบัติการเตรียมการแก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อรองรับการเปิดภาคการศึกษา ว่าระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาจราจร ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 05.00 น. และช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 15.00 น. อำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษา และเส้นทางต่อเนื่องให้เกิดความคล่องตัวและความปลอดภัย ดำเนินการตามมาตรการเร่งรับรถเข้าเมืองในช่วงเช้า และเร่งระบายรถออกนอกเมืองให้มากที่สุดก่อนเกิดปัญหาการจราจรติดขัด หากพบปัญหาเกี่ยวกับถนนชำรุด รถจอดเสีย หรืออุบัติเหตุ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไปยังที่เกิดเหตุโดยเร็วเพื่อแยกรถ เคลื่อนย้ายรถไม่ให้กีดขวางการจราจร หรือประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง และอาสาจราจร เสริมการปฏิบัติบริเวณหน้าสถานศึกษา และบริเวณทางข้ามต่างๆ โดยเน้นกวดขันวินัยจราจรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในข้อหาที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนปัญหาการจราจร ข้อเสนอแนะ หรือเบาะแสต่างๆ เกี่ยวกับการจราจร โดยติดตั้งบริเวณทางร่วม ทางแยก หรือสถานที่ที่เหมาะสม ให้ประชาชนสามารถมองเห็นเด่นชัด

บช.น.สั่งให้ทุกหน่วยรวบรวมข้อมูลถนนในพื้นที่รับผิดชอบที่มีการเปิดช่องทางพิเศษหรือกำหนดให้มีการเดินรถทางเดียวแต่ยังไม่ได้มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร เพื่อขอออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร และสำรวจเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ (แถบสีเหลืองสลับขาว) โดยเฉพาะบริเวณสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ติดถนนสายหลัก ซึ่งผลกระทบต่อการจราจร เพื่อขอให้ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำเครื่องหมายจราจร และสำรวจจุดที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังกรณีเกิดฝนตกในพื้นที่รับผิดชอบ และประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ วางท่อระบายน้ำ หรือขุดลอกท่อ รวมถึงประสานสถานีสูบน้ำในพื้นที่ เพื่อใช้ในการพร่องน้ำกรณีคาดว่าจะมีฝนตก

การก่อสร้างที่กระทบการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการจราจรและการสร้างดังกล่าวก็เป็นแนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกายภาพของถนน จึงทำให้เกิดสภาพการจราจรที่ติดขัดโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และโครงการก่อสร้างต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) บริเวณหน้าราชมังคลากีฬาสถาน จุดก่อสร้างสถานี OR 18 ที่จะมีการเบี่ยงการจราจร ให้เลื่อนเวลาดำเนินการออกไปหลังเปิดภาคการศึกษา 1 สัปดาห์ และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเสริมบริเวณแยกบ้านม้า

สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ตลอดเส้นทาง 48 ตัว คืนพื้นผิวการจราจรบริเวณจุดกลับรถซอยลาดพร้าว 122 (ซอยมหาดไทย) ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม ก่อนเปิดภาคการศึกษา เพื่อเร่งระบายรถในถนนลาดพร้าว จัดการจราจรในช่วงเร่งด่วนเช้า รถที่ออกจากซอยลาดพร้าว 35 สามารถเลี้ยงขวาเข้าช่องทางพิเศษเพื่อเข้าเมืองได้

รถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คืนพื้นผิวการจราจรถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธินมุ่งหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษมทั้งขาเข้าและขาออก ฝั่งละ 2 ช่องทาง ขนาดกว้างถนนพหลโยธิน มีการคืนผิวการจราจรบริเวณจุดกลับรถต่างๆ เป็นช่วงๆ ตลอดเส้นทาง จำนวน 3 ช่องทางและบริเวณจุดที่ไม่สามารถคืนพื้นผิวการจราจรได้ เหลือพื้นผิวการจราจร 2 ช่องทางได้หาพื้นที่จัดเป็นจุดจอดรถฉุกเฉินเมื่อมีรถประจำทาง หรือรถยนต์เสียกีดขวางการจราจรสามารถนำรถเข้าไปพักยังจุดดังกล่าวได้

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ บริเวณถนนเพชรเกษม ได้คืนพื้นผิวการจราจรตลอดเส้นทางแล้ว เร่งการปรับผิวการจราจรให้เรียบร้อยก่อนเปิดเทอมภาคการศึกษา บริเวณแยกท่าพระ ขยายผิวการจราจรจุดเลี้ยวทั้ง 4 ด้าน และปรับผิวทางให้เรียบ ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อสะดวกต่อการระบายรถ บริเวณสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีการก่อสร้าง มีลักษณะเป็นคอขวดจะมีการขยายช่องทางจราจรให้กว้างขึ้น และให้หยุดทำงานในช่วงเร่งด่วนเช้า ในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคการศึกษา

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนใหญ่การก่อสร้างยังอยู่ในเขต ภูธรจังหวัดนนทบุรี ถนนรามอินทรา ฝั่งมีนบุรี มีการปิดกั้นการจราจร 1 ช่องทาง ยังไม่กระทบการจราจร

และโครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช คืนพื้นผิวการจราจรบริเวณแยกศิริราชถึงอรุณอัมรินทร์ 22 และตีเส้นจราจรให้ชัดเจนก่อนเปิดภาคการศึกษา ตั้งแต่ซอยอรุณอัมรินทร์ 22 ถึงอิสรภาพ 44 คืนผิวการจราจรได้ฝั่งละ 2 ช่องทาง ประสานผู้รับเหมาให้ปรับผิวการจราจรให้เรียบ และตีเส้นจราจรให้ชัดเจน ส่วนการก่อสร้างอื่น ให้ชะลอการดำเนินการช่วงการเปิดภาคการศึกษาออกไปก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image