คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : ท่าทีพรรคชัดแจ้ง โดย นฤตย์ เสกธีระ

วันนี้การเมืองเริ่มปรากฏท่าทีของพรรคการเมือง
ท่าทีที่ปรากฏแบ่งเป็น หนึ่ง พรรคที่ทำตัวเสมือนตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอง พรรคที่เป็นคู่แข่งขันกับพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ สามพรรคที่พร้อมจะเข้าร่วมกับพรรคตามข้อแรกและข้อที่สองได้เสมอ
และสุดท้าย คือ พรรคประชาธิปัตย์
เริ่มจากประเภทที่หนึ่ง เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่ทำตัวเสมือนเป็นตัวแทนของ พล.อ.ประยุทธ์
พรรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตั้งพรรคการเมือง จึงต้องมีคนกรุยทางสู่ตำแหน่งนายกฯ
พรรคที่มีข่าวว่าอยู่ในกลุ่มนี้ ทั้งหมดเป็นพรรคตั้งใหม่
เดิมทีมีข่าวว่าเป็นพรรคพลังชาติไทย ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นหัวหน้า
แต่ภายหลังกระแสเริ่มจางหาย
ต่อมา บังเกิดข่าวใหม่ที่เอื้อนเอ่ยถึงพรรคพลังท้องถิ่นไทย
สุดท้ายมีชื่อพรรค “พลังประชารัฐ” โดยระบุว่ารัฐมนตรีอย่าง ดร.อุตตม สาวนายน จะเป็นตัวหลัก
แต่สุดท้ายของสุดท้ายแล้วจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตาม
ประเภทที่สอง เป็นคู่แข่งกับพรรค พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มนี้มีทั้งพรรคเดิมและพรรคใหม่
พรรคเดิมที่แสดงท่าทีแจ่มแจ้ง คือ พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคใหม่คือ พรรคอนาคตใหม่
พรรคเพื่อไทย ต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช.อยู่แล้ว เพราะ คสช.คือกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2557
ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจุดยืนชัดเจน
นั่นคือ “ล้างมรดก คสช.”
นโยบายนี้มิอาจเข้ากับพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้
พรรคประเภทที่สาม เป็นกลุ่มพรรคที่มีท่าที “รอผลเลือกตั้ง”
หมายความว่า ประชาชนเลือกพรรคไหนมากที่สุดก็พร้อมไปร่วมตั้งรัฐบาล
พรรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพรรคเอสเอ็มอีเดิม
พรรคกลุ่มนี้นักการเมืองมองว่าทำตามที่ประชาชนเลือกมา
แต่ในสายตานักวิชาการอาจมองว่าเป็นท่าทีที่ยอมจำนนต่อเผด็จการที่เข้ามากำหนดกติกาที่ได้เปรียบ
เป็นท่าทีที่ต้องการเป็นรัฐบาล ไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล
ประเภทสุดท้าย คือ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นคู่แข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นพรรคใหญ่
พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคเคยเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้จะเป็นนายกฯด้วยวิธีทางเทคนิค แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในสถานะที่เป็นคู่แคนดิเดตได้
ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่แสดงท่าทีว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
แม้นายอภิสิทธิ์จะเคยระบุว่า คน ปชป.ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ หากไปสนับสนุนคนอื่นก็อยู่ ปชป.ไม่ได้
แต่นายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงภายหลังว่า นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ตามหลักการ
ขณะที่ประชาธิปัตย์ก็บอกว่าเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว
ดังนั้น ประชาธิปัตย์อาจจะเป็นทั้งแคนดิเดต และร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
ส่วนหนทางไปร่วมกับเพื่อไทยนั้น คงยากมาก
จึงจัดให้พรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากกลุ่มอื่นที่กล่าวมา
วันนี้แม้การเลือกตั้งยังไม่กำหนดวัน แต่ท่าทีแต่ละพรรคก็ชัดเจนแล้ว
รอฟังนโยบายอีกนิด ประชาชนก็น่าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image