มหกรรมฟุตบอลโลก กับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต
มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเกมกีฬาที่ผู้คนคลั่งไคล้ทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะมหกรรมดังกล่าวจะเป็นการรวมของยอดขุนพลลูกหนังทั่วโลกที่จะมาอวดศักดา และประลองแข้งเพื่อประเทศอันเป็นที่รักของตนเอง

นับแต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในยุค จูลล์ ริเม่ต์ เป็นประธาน ได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการจัดเกมการแข่งขันขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอุรุกวัย ในปี ค.ศ.1930 จวบจนปัจจุบัน มหกรรมรายการนี้ได้มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกๆ 4 ปี คอลูกหนังทั่วโลกจะได้สัมผัสกับเกมอันตื่นเต้นและเร้าใจและนำมาซึ่งปรากฏการณ์แห่งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมหาศาล

สังคมไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยตื่นตัวและให้ความสำคัญ ตลอดจนติดตามการแข่งขันไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก โดยเฉพาะปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและสังคมข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย คนไทยจึงได้สัมผัสความเคลื่อนไหวมหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง

ฟุตบอลโลกปี ค.ศ.2018 ซึ่งประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะเริ่มเปิดศึกอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2018 โดยมียอดทีมชั้นนำที่ผ่านรอบการคัดเลือกเข้าร่วมการดวลแข้งจำนวน 32 ทีม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ทีมช้างศึกไทยไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย และต่อกรณีที่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำธงไตรรงค์ไปอวดชาวโลกในมหกรรมอันสุดยอดนี้ได้ วันนี้ยังมีคำถามไปยังสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯว่า “ชาตินี้หรือชาติหน้าที่บอลไทยจะได้ไปบอลโลก” แต่อย่างไรก็ตาม ทีมฟุตบอลหญิงหรือชบาแก้วของไทยก็สามารถกู้หน้าด้วยการผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่มหกรรมฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกที่ฝรั่งเศสในปีหน้าได้

Advertisement

เมื่อมหกรรมฟุตบอลโลกมาเยือน นอกจากผู้คนจะตื่นตัวและให้ความสำคัญในการติดตามแล้ว องค์กรธุรกิจเอกชนตลอดจนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นธุรกิจและสร้างความสุขให้กับแฟนลูกหนังในหลากหลายมิติ

หนึ่งในความสุขของคอลูกหนังชาวไทยจะได้รับคือการรวมทุนขององค์กรที่มีต้นทุนสูงด้วยการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ชมกันถึงบ้าน จำนวน 64 แมตซ์ รวมมูลค่า 1,400 ล้านบาท จากการผลักดันและประสานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย

มิติแห่งความสุขของสังคมไทยนอกเหนือจากได้รับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ฟรีแล้ว ทุกครั้งที่มหกรรมนี้มาถึงผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ได้งัดกลยุทธ์เพื่อประโยชน์ทางการตลาด ด้วยการผุดแคมเปญเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมโดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่มีการลด แลก แจก แถม

Advertisement

ในขณะที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็ไม่น้อยหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปเชิญชวนแฟนลูกหนังร่วมกิจกรรมด้วยการจัดทายผลการแข่งขันเพื่อรับรางวัลมูลค่าจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งจากการจัดการทายผลการแข่งขันส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ควบคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานคือ “การพนัน” ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการพนันจะพบว่านอกจากการพนันทั่วไปแล้ว ในวงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลโลกถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมิติของการพนันที่ในแต่ละครั้งจะมีเม็ดเงินสะพัดจำนวนมากพอสมควร และเพื่อป้องกันจากการพนันดังกล่าวขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประชุมเพื่อกำชับแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การขับเคลื่อนศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอล เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมาถึง

จากกรณีที่การพนันเกาะติดกับสังคมไทยล่าสุด นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานการประชุม “ชีวิตเสี่ยงพนัน…จะป้องกันเยาวชนอย่างไร” ว่า “กลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการพนันมากขึ้น ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ที่น่าห่วงในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ยิ่งทำให้มีการพนันฟุตบอลออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ มีผลวิจัยระบุชัดว่าเยาวชนที่เริ่มเล่นการพนันฟุตบอลมีแนวโน้มจะเล่นพนันต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6 ที่น่าห่วงผลการสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันของนักเรียนมัธยมต้น ปี 2561 พบว่าเด็กเริ่มเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุน้อยที่สุด 6 ปี ส่วนผลสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าเริ่มต้นเล่นการพนันครั้งแรกอายุต่ำสุด 7 ปี”

ขณะที่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจสถานการณ์พฤติกรรมและผลกระทบการพนันในประเทศไทยทุก 2 ปี โดยปี 2560 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยเล่นการพนันประเภทที่เล่นมากที่สุดคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และพนันฟุตบอล

ที่น่ากังวลพบว่ากลุ่มเยาวชนเล่นการพนันมากขึ้น ร้อยละ 17 โดยเฉพาะการพนันฟุตบอล เพราะได้เสียเงินง่ายและเร็ว (ไทยรัฐ, 18 พฤษภาคม 2561 หน้า 15)

สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้คลั่งไคล้ต่อการพนันได้เข้าไปเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายและสูญเสียทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวโน้มที่จะเกิดเป็นปรากฏการณ์แห่งมิติของการพนันที่เกี่ยวกับกีฬานั้นไม่มีเพียงเกมฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่เกมกีฬาในมหกรรมต่างๆ กลับปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าฟุตบอลลีกทั้งในและต่างประเทศหรือมวยตู้ ที่มีการถ่ายทอดสดและกำลังได้รับความนิยมกันทุกสัปดาห์

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับผิดชอบเยาวชนทั่วประเทศนับล้านคน ตลอดจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างได้ออกมาตรการเพื่อหาทางป้องกันและปราบปรามที่จะลดระดับความต้องการ แต่ก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นและดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่สร้างปัญหาให้สังคมไปอีกนานเท่านาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มหกรรมฟุตบอลโลกซึ่งเป็นเกมกีฬาที่มีกฎกติการองรับและทำให้ชาติมหาอำนาจลูกหนังทั่วโลกต่างไล่ล่าหาความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์ Word Cup ไปครองพร้อมเงินรางวัลมหาศาลนั้น วันนี้สังคมไทยคงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการติดตามชมเกมการแข่งขันเพื่อมิติของเกมกีฬาอย่างแท้จริง ครอบครัวซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยทางสังคมที่ทรงพลังมากที่สุดสถาบันหนึ่ง คงจะได้แสวงหาจุดร่วมโดยเฉพาะการหามาตรการป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขและการพนัน

เมื่อกล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง นอกจากจะมีการสร้างสีสันด้วยเกมที่ตื่นเต้นแล้ว เกมดังกล่าวยังส่งผลต่อการสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากสำหรับในสังคมไทย หากคิดเป็นเงินจะมีการสะพัดนับหมื่นล้านบาท

ในประเด็นนี้สอดคล้องกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินว่าช่วงเทศกาลแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดในประเทศไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท หรือช่วยทำเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4-0.5%

หากวิเคราะห์ในภาพรวมจะพบว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งถือเป็นกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเพราะเป็นเกมเป็นเบอร์หนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อนำเอามูลค่าการบริหารจัดการและการลงทุนตลอดจนผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและเมื่อรวมกับค่าตัวของนักเตะในแต่ละชาติด้วยแล้วจะพบว่ามหกรรมนี้มีการสะพัดทางการเงินอย่างมหาศาลและมากกว่าการแข่งขันในทุกเกมกีฬาที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้

จากปรากฏการณ์ของมหกรรมฟุตบอลโลกที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศแล้ว หากย้อนกลับไปในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ที่ประเทศบราซิล การจัดการแข่งขันในครั้งนั้นได้สร้างรายได้ให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ซึ่งเป็นเจ้าของเกมสูงถึง 4,800 ล้านดอลลาร์ หรือ 158,400 ล้านบาท แต่เมื่อมองไปดูถึงรายจ่ายกลับพบมีมูลล่า 2,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 89,100 ล้านบาท ทำให้เจ้าของเกมมีกำไรอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 69,300 ล้านบาท ซึ่งในการแข่งขันปี 2018 นี้ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและฟุตบอลคาดหวังว่าการแข่งขันในครั้งนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเหนือกว่าการแข่งขันเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างมากมาย

เหนือสิ่งอื่นใดทีมที่เข้าร่วมทั้ง 32 ทีม จะได้รับเงินเตรียมทีม ทีมละ 1.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 49.5 ล้านบาท สำหรับทีมที่ถือได้ว่าสุดยอดของวงการลูกหนังโลกหากคว้าแชมป์ไปครองจะได้รับรางวัล ถึง 38 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,254 ล้านบาท

จากปรากฏการณ์ของเกมกีฬาเบอร์หนึ่งของโลกที่ได้สร้างมิติต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและสังคม ในอนาคตหากทีมช้างศึกไทยได้มีโอกาสไปอวดเพลงเตะในมหกรรมนี้ด้วยแล้วประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในยุทธจักรของวงการลูกหนังโลก เพียงแต่ว่าเราทั้งมวลจะต้องรอในชาตินี้หรือชาติหน้า

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image