ไทยพบพม่า : ปัญหาว่าด้วยอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมโรฮีนจาในทรรศนะของฌัก ไลเดอร์ (ตอนจบ) : โดยลลิตา หาญวงษ์

ปัญหาว่าด้วยอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมโรฮีนจาในทรรศนะของฌัก ไลเดอร์ (ตอนจบ)

อีกหนึ่งคอนเซ็ปต์น่าสนใจที่ฌัก ไลเดอร์นำเสนอเพื่ออธิบายปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมโรฮีนจากับชาวพุทธในรัฐยะไข่และรัฐพม่า คือแนวคิดของชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เหนือที่สร้างตำแหน่งแห่งที่ของตนขึ้นมาในฐานะชาว “โรฮีนจา” ซึ่งไลเดอร์มองว่าเป็นการสร้าง “สิ่งเพ้อฝัน” (imaginaire) หรือเป็นจินตนาการที่มิได้ตั้งอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าไลเดอร์ถูกโจมตีอย่างหนักโดยนักวิชาการทั้งในและนอกแวดวงพม่าศึกษา แต่หลายปีมานี้ ไลเดอร์ยืนยันข้อเสนอเดิมของเขา และนำเสนอในวงวิชาการมาอย่างต่อเนื่องว่า “โรฮีนจา” ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อการแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมมุสลิมในพม่าที่แอคทีฟมาตลอด 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ฌัก ไลเดอร์

ในปี 1936 (พ.ศ.2479) ครูสอนศาสนาอิสลามในยะไข่ตอนเหนือร่วมกันตั้งสมาคมชื่อ “จามัยยาต อุล-อุลามะ” หรือสมาคมอุลามะ (ครูสอนศาสนา) ที่เมืองหม่องด่อ สมาคมก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่พม่ากำลังจะแยกตัวออกจากอินเดีย (แยกออกในปี 1937) เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ชาวอินเดียหลายแสนคนอพยพข้ามไปยังเขตของบริติชอินเดีย ไม่ใช่เพียงเพราะหลบหนีกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังหลบหนีการกวาดล้างของกองทัพพม่า และชาวพุทธในยะไข่ ซึ่งโกรธแค้นชาวมุสลิม ภายหลังมีกระแสการต่อต้านชาวมุสลิมทั่วประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ด้านชาวพุทธยะไข่ที่เคยอาศัยในรัฐยะไข่ตอนเหนือก็ถูกขับออกมา และจำเป็นต้องอพยพหนีตายไปทางใต้

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง ที่เราเห็นภาพเขตแดนจินตกรรมที่กั้นระหว่างชาวยะไข่พุทธ และชาวมุสลิมอย่างชัดเจน ในเมืองหม่องด่อ ระตีด่อง และบูตีด่อง เมืองทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ติดกับชายแดนบังกลาเทศจะเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิม ในขณะที่เมืองอื่นๆ ในรัฐยะไข่จะเป็นพื้นที่ของชาวยะไข่พุทธ และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวยะไข่มุสลิม

Advertisement

ก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่นาน อุลามะกลุ่มเดียวกันหยิบยกประเด็นเรื่องการตั้งเขตชายแดน (frontier zone) ในรัฐยะไข่เหนือ เพื่อตั้งเป็นเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิม ในขณะที่รัฐบาลพม่าในขณะนั้นเห็นชอบกับการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และรัฐธรรมนูญพม่าปี 1937 ยังกล่าวถึงสิทธิการแยกตัว (Rights of Secession) ไว้ในบทที่ 10 แต่รัฐบาลพม่าเห็นว่าข้อเสนอจากชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เหนือไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์หรือเชื้อชาติอย่างที่กลุ่มอุลามะอ้าง การแยกตัวออกไปเกิดขึ้นเพราะชาวมุสลิมในยะไข่เหนือไม่ “กินเส้น” กับชาวยะไข่ในพื้นที่อื่นๆ และความต้องการนำกฎหมายชารีอะห์กับภาษาอูรดู (ภาษาราชการของปากีสถานในปัจจุบัน) มาใช้เพื่อขับเน้นให้เห็นอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมที่แตกต่างจากชาวยะไข่และชาวพุทธอื่นๆ

และเกิดเป็นขบวนการปลดปล่อยของกลุ่มมูจาฮิดีน ขึ้นระหว่างปี 1948-1961 (พ.ศ.2491-2505)

คําว่า “โรฮีนจา” ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มมูจาฮิดีน หรือจากชาวมุสลิมในยะไข่เหนือ แต่เกิดจากความพยายามสร้างของนักการเมืองมุสลิมจากยะไข่เหนือในทศวรรษ 1950 เพื่อรวมชาวมุสลิมในพื้นที่นั้นทั้งหมดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยนำอัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ไปผูกไว้กับคำว่า “โรฮีนจา” ไลเดอร์ชี้ให้เห็นว่าการสะกด “โรฮีนจา” ก็มีปัญหา เพราะในช่วงทศวรรษ 1950 ที่คำถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองเป็นครั้งแรก นักวิชาการหรือนักการเมืองมุสลิมเองก็สะกด “โรฮีนจา” ต่างกันไป มีทั้ง Rwangya, Rowannhyas, Rawengya, Royankya, Rohinjas และ Ruhangya

Advertisement

เมื่ออู นุชนะการเลือกตั้งในปี 1960 (พ.ศ.2503) เขานำคำสัญญาที่จะให้ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และเมื่อชาวมุสลิมในยะไข่พบว่ารัฐบาลพม่าต้องการมอบเอกราชให้กับชาวยะไข่พุทธ จึงทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจ เพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของชาวยะไข่พุทธ หลังการล็อบบี้อย่างหนักหน่วง รัฐบาลพม่ายอมให้ชาวมุสลิมในยะไข่เหนือตั้งเขตของตัวเองที่เรียกว่าเขตปกครองชายแดนมายู (Mayu Frontier Administration) ได้ และรัฐบาลพม่าเองก็ประกาศยอมรับให้ “โรฮีนจา” เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งของพม่า

ไลเดอร์เน้นให้เห็นบทบาทของครูสอนศาสนาและปราชญ์มุสลิมในยะไข่เหนือในการสร้างอัตลักษณ์ “โรฮีนจา” ให้กับกลุ่มคนของตน และปะติดปะต่อประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น อ้างถึงหลักฐานของโปรตุเกสและดัตช์ที่ว่าชาวมุสลิมมีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอาณาจักรเมร่าก์อู อาณาจักรโบราณในยะไข่ (คริสต์ศตวรรษที่ 15-18/พุทธศตวรรษที่ 20-23) นักเขียนมุสลิมที่มีบทบาทอย่างมากคือมูฮัมหมัด คาลิลูร์ ราห์มัน (Muhammad Khalilur Rahman) และอาซาดี จ. ฮาซาน (Azadi G. Hazan) ที่เขียนหนังสือประวัติศาสตร์มุสลิมในยะไข่ออกมาในปี 1944 (พ.ศ.2487) และ 1946 (พ.ศ.2489) ตามลำดับ

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮีนจาที่เขียนขึ้นมาใหม่มักอ้างว่าชาวมุสลิมเข้ามาตั้งรกรากในยะไข่หลายร้อยปีมาแล้ว และมีบทบาทที่สำคัญในราชสำนักยะไข่ อ้างไปถึงชาวเปอร์เซียและชาวอาหรับที่เข้ามาในแถบมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวโรฮีนจา ในช่วงต้น คือในทศวรรษ 1950 ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ของชาวโรฮีนจายังไม่ใช่ประเด็นที่มีความสลักสำคัญมากนัก

เพราะชาวมุสลิมในยะไข่ยังมีอิทธิพลทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และรัฐบาลพม่าก็ยอมรับว่าชาวโรฮีนจาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพพม่า

แต่เมื่อรัฐบาลเน วินขึ้นมามีอำนาจในต้นทศวรรษ 1960 สถานการณ์เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลเผด็จการพม่าของเน วินไม่ยอมรับว่าชาวโรฮีนจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่าอีกต่อไป และไม่ยอมรับเรื่องเล่า (narrative) ที่อยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ยุคโบราณ และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าภาษาและวัฒนธรรมของชาวโรฮีนจาในปัจจุบันเป็นส่วนผสมระหว่างวัฒนธรรมยะไข่กับเบงกอล ที่เกิดขึ้นผ่านการแต่งงานกันระหว่างคนจากฝั่งเบงกอลโดยเฉพาะจากจิตตะกองกับชาวยะไข่พื้นเมือง น่าสนใจว่านักวิชาการเกี่ยวกับโรฮีนจาจำนวนมากได้อพยพไปอยู่บังกลาเทศหรือประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เกิดสมาคมศึกษาประวัติศาสตร์อาระกัน (Arakan Historical Society) ขึ้นในจิตตะกองในปี 1975 (พ.ศ.2518) งานเขียนชิ้นสำคัญๆ ของ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เอ.เอฟ.เค. จิลานี (A.F.K. Jilani) และมูฮัมหมัด อัชราฟ (Muhammad Ashraf) ล้วนถูกเขียนและตีพิมพ์ในบังกลาเทศทั้งสิ้น

แนวคิดเรื่องการสร้างประวัติศาสตร์ของชาวโรฮีนจาที่ไลเดอร์นำมาถ่ายทอดอาจจะไม่ถูกใจใครหลายคนที่มองว่าโรฮีนจาเป็นเหยื่อของความรุนแรงของกองทัพพม่าและประชาชนพุทธบางส่วนในยะไข่ แต่เราจำเป็นต้องแยก “ความรู้สึก” และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนออกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮีนจามิใช่ประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เป็นความพยายามสร้างบาดแผลในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของตน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการทหารก็ตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรง ผ่านยุทธวิธีทางทหารและการปฏิเสธสัญชาติชาวโรฮีนจา ไปจนถึงการริบสัญชาติของพวกเขา

การห้ำหั่นกันของทั้งสองกลุ่มละเลยข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพม่าหรือรัฐยะไข่เป็นพหุสังคม ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันมาโดยตลอด และหากตัวแสดงเหล่านี้ไม่ยินยอมประนีประนอม การยุติปัญหาโรฮีนจาที่ยืดเยื้อและยิ่งจะทวีความรุนแรงต่อไปในอนาคตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image