เลือกตั้ง24ก.พ.-เดิมพันประเทศ

พรรคการเมืองกระตือรือร้น เตรียมการเข้าสนามเลือกตั้ง

แม้กฎ กติกาไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวสักเท่าใด กิจกรรมใหญ่ๆ ที่จำเป็นถูกควบคุม ห้ามดำเนินการ ต้องรอการคลายล็อกและปลดล็อกข้อห้าม คำสั่ง คสช.

แต่ก็พอมีที่ทางเดินได้บ้าง ไม่ขัดต่อเงื่อนไข

อย่างการเฟ้นตัว คัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ชิงเก้าอี้ในขณะนี้ ที่ด้านหนึ่งสะท้อนภาพความล้มเหลว ระบบไพรมารีโหวต ไม่ว่านำมาใช้เต็มรูปแบบ หรือใช้ระบบกรรมการสรรหาก็ตาม เนื้อแท้ก็เป็นได้แค่พิธีกรรมยุ่งยาก ที่อาจนำไปสู่การเอาผิดพรรคการเมืองได้อีกช่องทางเท่านั้น

Advertisement

จะไพรมารีหรือไม่ ไม่มีความหมาย พรรคการเมืองยังเป็นผู้คัดเลือก ล็อกตัวผู้สมัคร ส.ส.อยู่ดี

ที่พรรคต่างๆ ลิงโลดดีใจ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เมื่อเป็นผู้เล่นก็ย่อมต้องการสนาม เมื่อเชื่อมั่นว่าบริหารประเทศได้ดีกว่า ก็ย่อมต้องอยากเสนอตัว-ตัวสั่น

Advertisement

ไม่เฉพาะพรรคการเมือง ประชาชนก็ทวงอำนาจ อยากเลือกตั้ง ต้องการมีตัวแทนปากเสียงต่อสู้ ผลสำรวจความคิดเห็นสำนักโพลหลายแห่ง ระบุตรงกัน เอาไว้อย่างนั้น

ที่พรรคการเมืองอยากเลือกตั้ง ประชาชนก็เรียกร้อง

นอกจากหลักการปกครองที่ถูกต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว

ยังอาจเนื่องจาก ประเทศห่างเหิน ไม่มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 บ้านเมืองย่ำเท้าอยู่ในวังวนการปกครองพิเศษ โดยรัฐบาล คสช.มากว่า 4 ปี

ยาวนานกว่าการรัฐประหารครั้งใดๆ

ฝีมือการบริหารราชการแผ่นดิน จัดการแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัย ฝ่ายต่างๆ เร่งเร้า โหยหา

การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 62 จึงน่าจะเป็นการเลือกตั้งพิเศษกว่าครั้งใดๆ

เนื่องจาก เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โค่นล้มยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง

หนำซ้ำยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้กติกาใหม่ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560
กฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุด ฉบับปฏิรูป

แต่เปิดทาง ให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ต้องลงเลือกตั้งได้ มีบทเฉพาะกาล ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนี้ ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่กรรมการกลาง ผู้ยกเหตุผล ข้ออ้างจำเป็นต้องรัฐประหาร เนื่องจาก บ้านเมืองมีความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างรุนแรง จึงต้องแก้ไข ยุติปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นด้านหลัก แต่ก็จัดการ เช็กบิลนักการเมืองซีกที่โค่นล้มไป โดยที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นคดีการเมือง

กรรมการกลางที่ว่า มีแนวโน้มจะเข้าร่วมในเกมชิงอำนาจ โดยเลือกรูปแบบ ไม่ลงเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ด้วย

การเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ จึงพิเศษยิ่งกว่าการตัดสินปัญหาการเมืองครั้งใดๆ

มิใช่เป็นเดิมพันของ คสช.ฝ่ายเดียว ที่ต้องการล้างพิษการเมือง แบบไม่อยากให้เสียของ ยังเป็นเดิมพัน ของฝ่ายประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองล้างพิษ คสช.ด้วย

แต่ก็ไม่ง่ายทั้ง 2 ฝ่าย

โดยเฉพาะฝ่ายฝักใฝ่ประชาธิปไตย ปฏิเสธรัฐบาลทหาร

เนื่องจากกติกาใหม่ ให้ความสำคัญกับการรวบรวมเสียงในสองสภารวมกัน ไม่ให้ความสำคัญกับ เจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.

ทางเดียวที่พอเป็นไปได้ ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อทำลายคะแนนจัดตั้งไม่ให้มีความหมาย จากการใช้กลไก เครือข่ายอำนาจรัฐ

หากประชาชนใช้สิทธิมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เจตนารมณ์ การแสดงออกนั้น ไม่สูญเปล่าแน่นอน

เสียงที่แปรเป็นที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งในฝ่ายเลือกตั้ง จะกระหึ่มดังเป็นพลัง ข่มเสียงจัดตั้งของ ส.ว.ในรัฐสภา

ถึงตั้งรัฐบาลได้

แต่ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยสากลย่อมอยู่อีกฝั่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image