สถานีคิดเลขที่ 12 : ที่มาของ7หมื่น : โดย นฤตย์ เสกธีระ

 

ตัวเลข 70,000 นี่ถือเป็นตัวเลขการเมือง เพราะเป็นตัวเลขที่ในวงการคาดกันว่าจะเป็นค่าเฉลี่ยของคะแนนที่นำมาคำนวณจำนวน ส.ส.
ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า คะแนนที่ประชาชนไปหย่อนบัตรทุกคะแนนมีคุณค่า

ไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคการเมือง จะแพ้หรือชนะ คะแนนที่ประชาชนลงให้นั้นถือเป็นคะแนนที่ลงให้พรรค

เรียกง่ายๆ ว่าคะแนนพรรค

Advertisement

เมื่อการเลือกตั้งยุติลง คะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจะนำไปคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นๆ พึงมี

เรียกว่า “จำนวน ส.ส. ที่พึงมี”

จำนวน ส.ส.ที่พึงมีนี้ คือจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะมีได้

Advertisement

หากพรรคการเมืองใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมี

พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม

แต่ถ้าพรรคการเมืองใด มีคะแนนสูงเกินเฉลี่ย แม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลย

แต่เมื่อพรรคมีคะแนนที่มากพอที่ได้ “ส.ส.ที่พึงมี” พรรคนั้นก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเพิ่ม

คำถามคือ คะแนนเฉลี่ยที่จะได้ ส.ส.นั้นประมาณเท่าไหร่

คำตอบคือ ประมาณ 70,000 คะแนน

70,000 เลยกลายเป็นตัวเลขการเมืองที่ปลิวว่อนอยู่ในขณะนี้

สำหรับตัวเลข 70,000 นั้นมาจากการคำนวณตัวเลขของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ในสภา

ตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมปีนี้ สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยประกาศออกมาแล้ว

สรุปจำนวนรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศปีการเลือกตั้ง 2562 (เกิดก่อนวันที่ 3 มกราคม 2544) มีทั้งสิ้น 51,564,284 คน

แบ่งเป็นชาย 24,886,213 คน เป็นหญิง 26,678,071 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้ง (โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557) คือบุคคลที่เกิดระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2539-2 มกราคม 2544 มีทั้งสิ้น 4,510,052 คน

แบ่งเป็นชาย 2,301,535 คน เป็นหญิง 2,208,517 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวประมวลผลล่าสุด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 โดยเป็นการประมาณการจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ซึ่งหลังจากนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

จากข้อมูลดังกล่าวคิดตัวเลขกลมๆ ว่า ไทยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 ล้านคน

ประมาณการตามประสบการณ์ว่า คนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ

คือประมาณ 35 ล้านคน

จากตัวเลข 35 ล้านคน นำมาหารด้วยจำนวนเก้าอี้ ส.ส. 500 ที่นั่ง

ตัวเลขออกมาที่ 70,000 เป๊ะ

จึงคาดการณ์กันได้ว่า หากพรรคการเมืองใดต้องการมี ส.ส. ต้องหาคะแนนเสียงให้ได้มากกว่า 70,000 เสียง

70,000 เสียง ได้ ส.ส. 1 คน 700,000 เสียง ได้ ส.ส. 10 คน

อยากได้ ส.ส. 100 คนก็ต้องหาเสียงให้ได้ 7 ล้านเสียงขึ้นไป

เรื่องตัวเลขการเมืองยังไม่จบลงแค่นี้ เพราะยังมีตัวเลขอื่นๆ ที่น่านำมาขบคิด

โดยเฉพาะตัวเลขคะแนนในแต่ละเขต ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีมากสุดไม่กี่หมื่นคะแนน

คะแนนนี้ เขาคิดมาจากไหน

เป็นตัวเลขอีกก้อนหนึ่งที่น่าติดตาม

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image