ม็อบเสื้อกั๊กเหลือง

การประท้วงรัฐบาลอย่างครึกโครมในฝรั่งเศส จนขึ้นแท่นเป็นการจลาจลที่รุนแรงที่สุดในรอบสิบปีของประเทศ อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิต ชวนให้ผู้ติดตามข่าวคนไทยหวนคิดถึงช่วงวุ่นๆ ในบ้านเราตลอดช่วงสิบปีมานี้เช่นกัน

โดยเฉพาะสถานการณ์ที่กรุงปารีส เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล และใส่เสื้อกั๊กเหลืองสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเดือดร้อนของผู้ขับขี่รถยนต์ทุกประเภท พยายามปิดการจราจรและบุกเข้าไปยังประตูชัย ใจกลางเมืองหลวงจนเกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล

ก่อนที่รัฐบาลจะยอมถอย ด้วยการระงับใช้มาตรการเก็บภาษีเพิ่มและจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2562 ออกไปก่อน พร้อมกับจะมีมาตรการความช่วยเหลืออื่นๆ

คณะบริหารกรุงปารีสสรุปมูลค่าความเสียหายจากการประท้วงและจลาจล วันที่ 1 ธ.ค. สูงถึงร้อยล้านบาท ส่วนกระทรวงกิจการภายในประเทศประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ถึงหลักแสน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. และถ้านับย้อนไปถึงวันที่เริ่มมีการประท้วงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนก็มีไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

Advertisement

การยอมถอยของรัฐบาลครั้งนี้ คาดว่า สถานการณ์ตึงเครียดและเผชิญหน้าน่าจะบรรเทาเบาบางลง แม้ว่าน่าจะมีบางกลุ่มอาจไม่อยากให้ลงเอยเร็วอย่างนี้ เพราะเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ นายเอ็มมานูแอล มาครง ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

พร้อมเสียงเรียกร้องแปลกๆ ว่าควรให้ พล.อ.ปิแอร์ เดอ วิลลิเยร์ อดีต
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาบริหารประเทศแทน

การเรียกร้องพิลึกพิลั่นแบบนี้คาดว่าน่าจะเป็นการแหย่หรือประชดใส่นายมาครง
ไปอย่างนั้นเอง เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าปล่อยให้นักการทหารมาบริหารประเทศ
ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ก็คงไม่ยอม

Advertisement

การเอ่ยชื่อนายพลรายนี้ขึ้นมาเขย่าขวัญ มีที่มาที่ไปว่าเป็นเพราะนายมาครง
เคยสั่งปลดออกจากตำแหน่งไปเมื่อกลางปีก่อน หลังจากท่านนายพลออกมาวิจารณ์รัฐบาลปรับลดงบประมาณของกองทัพลงไปกว่าสามหมื่นล้านบาท เลยเจอนายมาครง ผู้นำหนุ่มไฟแรงกล่าวอย่างดุดันว่า ไม่รู้จักหน้าที่ พร้อมย้ำว่า ประธานาธิบดีคือผู้บังคับบัญชาของผู้นำกองทัพ

ท่าทีและถ้อยคำแบบนี้ถ้าเป็นผู้นำไทย รับรองว่าคงไม่เกิดขึ้นแน่ แต่กับฝรั่งเศสแล้วเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก เพราะถึงจะพูดและปลดตำแหน่งกันอย่างไม่ต้องไว้หน้าขนาดนี้ ผู้นำกองทัพฝรั่งเศสก็คงไม่ลุกขึ้นมาก่อรัฐประหารแน่นอน

เช่นเดียวกับ สถานการณ์ประท้วงที่รุนแรงและลุกลามเป็นจลาจล ก็คงไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้างยึดอำนาจ หรือแม้แต่การใช้กระสุนจริงเข้าไปสลายการชุมนุมก็เป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าจะเป็นจริงได้ สำหรับประเทศประชาธิปไตยระดับแนวหน้าของยุโรป

สำหรับกรณีของฝรั่งเศส แม้รัฐบาลยืนยันความจำเป็นว่าประเทศต้องเดินหน้าปฏิรูปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อการขึ้นภาษีน้ำมันทำให้ประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในสังคม ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง

การประณามผู้ประท้วงใช้ความรุนแรงเป็นประเด็นหนึ่ง แต่การประนีประนอมกับประชาชนก็ต้องเป็นอีกประเด็น

เรื่องเหล่านี้ต้องแก้ไขด้วยกลไกทางการเมือง จะเรียกทหารมาเพื่อความสะใจไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image