สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

ปลายสัปดาห์ก่อน ดูจะมีข่าวทางการเมืองใหญ่ๆ สองข่าว

เริ่มจากความสนใจว่าด้วยที่มาอันน่าสงสัยของเงินบริจาคในงานเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ

ต่อด้วยเรื่องราวของ “คลิปส่วนตัว” ที่ถูกขยายกลายเป็นประเด็นสาธารณะและประเด็นทางการเมืองอันร้อนแรง

นอกจากจะมีประสิทธิภาพในการแข่งขันซึ่งกันและกัน (ถ้าข่าวหนึ่งเด่น อีกข่าวก็ต้องเงียบหายตกกระแสไป)

Advertisement

ทั้งสองเรื่องยังคล้ายจะมีศักยภาพในการสั่นสะเทือนการเมืองใน
ภาพใหญ่

แต่ไปๆ มาๆ สถานการณ์ทุกอย่างกลับแน่นิ่ง-คงเดิม

กรณี “คลิปส่วนตัว” ซึ่งยังหาตัวคนถ่าย คนเผยแพร่ คนสมรู้ร่วมคิด (เช่น โรงแรมที่เกิดเหตุ) ในการกระทำผิดไม่ได้ (ถ้าเป็นกรณีแบล๊กเมล์ทางการเมือง ก็ถือเป็นการกระทำที่สกปรกมาก) นั้นแทบไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ ที่ผิดแผกแตกต่าง

Advertisement

กล่าวคือ กลุ่มคนที่สนับสนุน “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ของบุคคลภายในคลิป ก็ดูเหมือนจะยังปักหลักเชื่อมั่น ยังพร้อมให้กำลังใจ ยังพร้อมปกป้องบุคคลทั้งสอง กันเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่กลุ่มคนซึ่งสมาทานแนวคิดทางการเมืองอีกแบบ ก็ยังเดินหน้าถล่มบุคคลในคลิป ด้วยการอ้างอิงหลักศีลธรรม-จริยธรรม และทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ดังที่พอจะคาดเดาได้ล่วงหน้า

สภาพการณ์เช่นนี้ไม่น่าส่งผลกระทบต่อคะแนนความนิยมของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งมากนัก

เช่นเดียวกับกรณี “โต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ” ที่ไม่ว่าจะมี/ไม่มี “คลิป” ใดก็ตาม ถูกปล่อยออกมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

แต่สุดท้าย กิจกรรมทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐยังจะดำเนินเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ไม่วอกแวก พร้อมแนวทางหรือสโลแกนการหาเสียงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อาทิ การเลือกพรรคพลังประชารัฐเท่ากับเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

นี่คือสภาวะปกติที่จะดำเนินไป พร้อมกับเงินทุนจากแหล่งต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคนี้

เท่ากับว่า กระทั่งถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครหรือเหตุการณ์ใดเข้ามาเปลี่ยนแปลง “การเมืองไทย” ให้พลิกผัน จากหน้ามือเป็นหลังมือได้

หากประเมินจากจิตใจที่จดจ่อ แน่วแน่ จุดยืนที่มั่นคง เด่นชัด ของทุกฝ่าย

เราย่อมเห็นภาพที่ตัวแสดงหรือตัวละครทางการเมือง ตลอดจนประชาชนคนธรรมดา ล้วนเดินทางมุ่งหน้าไปบนถนนสายเดียวกัน

ก่อนจะพบทางแยกสำคัญที่ต้องตัดสินกันด้วย “การเลือกตั้ง”

ณ จุดนั้น ทางแยกหรือทางเลือกคล้ายจะเหลืออยู่เพียงแค่สองทาง ระหว่าง เอา/ไม่เอา “ประชาธิปไตย”

หรือพูดอีกอย่าง คือ เอา/ไม่เอา “คสช.”

นี่คือจุดหมายปลายทางในเบื้องแรกที่กระจ่างชัด ซึ่งมิอาจหักเหได้ด้วยเรื่องราวรายทางใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image