ด้วยความเป็นห่วง

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ผ่านพ้นไป พร้อมกับการเปิด “บทตอนใหม่” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

ด้านหนึ่ง หากตัดปัจจัยรายรอบอื่นๆ ที่อาจแปรผันคะแนนเสียงของประชาชนให้บิดเบี้ยวได้ ออกไปก่อน

ก็ต้องยอมรับว่าเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ นั้นต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง”

แต่ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ปรากฏผ่านบัตรลงคะแนน กลับมีนัยยะความหมายสองแนวทางดำรงอยู่เคียงคู่กัน

Advertisement

คือ ความต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ทิศทางใหม่ โดยกลุ่มคนหน้าใหม่ๆ

และความต้องการจะพิทักษ์รักษาประเทศเอาไว้ตรงสภาวะ “สงบนิ่ง” ด้วยกลุ่มตัวแทนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ซึ่งมีภาพลักษณ์/จุดยืนเข้มข้นขึงขังกว่าทางเลือก/กลุ่มตัวแทนเดิมๆ ในระบบพรรคการเมือง

อีกด้านหนึ่ง เราก็ได้พบเห็นความวุ่นวายไม่ลงตัวต่างๆ นานา ภายหลังการเลือกตั้ง

Advertisement

ผู้ได้รับก้อนอิฐไปมากที่สุด หนีไม่พ้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทำให้สาธารณชนต้องสับสนกับผลคะแนน ตลอดจนตัวเลขสถิติต่างๆ ดังจะเห็นได้จากข่าวคราวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กกต. ควรทำหน้าที่เป็น “เจ้าภาพ” ได้ดีกว่านี้ ในการจัดทำ/ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงการประกาศภาพรวมของผลการเลือกตั้ง

ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องพิศวงงงงวยกับผลการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สูตรต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายคนและสื่อมวลชนหลากหลายสำนัก (ยกเว้น กกต.)

ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าตกลงเราจะชี้วัดพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งหนนี้ จากจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรหรือคะแนนป๊อปปูลาร์ โหวต กันแน่

ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องคลางแคลงใจต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของ “คนกลาง” เช่น กกต.

ความไม่ลงตัวทั้งหลาย อันเกิดจากโครงสร้างกติกาที่วางเอาไว้ก่อนหน้าและความไม่แน่นอนในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการกลาง ทำให้เชื่อมั่นได้ยากว่าจะเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในอนาคต

ไม่ว่าสุดท้าย พรรคการเมืองฝ่ายไหนจะประสบชัยชนะในเกมการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งกำลังดำเนินอยู่

ผลลัพธ์ที่น่าเป็นห่วงในลำดับถัดไป คือ มีความเป็นไปได้ว่าประชาชนจำนวนมากอาจเกิดอาการผิดหวัง-ไม่เชื่อมั่นกับระบอบประชาธิปไตยอีกหน

อย่างไรก็ดี ควรคำนึงว่า ถ้าความหมดหวัง-สูญเสียศรัทธาต่อ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ได้เกิดขึ้นหลังจากนี้ วิธีการที่คนทั้งสังคมจะร่วมกันเลือกใช้เผชิญหน้ากับวิกฤตดังกล่าวอาจไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

หากย้อนกลับไปพิจารณาผลคะแนนเลือกตั้ง ที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามี “ความต้องการเปลี่ยนแปลง” สองกระแส ซึ่งกำลังยื้อยุดถ่วงดุลกันอยู่

การแก้ไขปัญหา “ประชาธิปไตยไทย” จึงอาจไม่ได้มีแค่ตัวเลือก “รัฐประหาร” หรือการยอมมอบอำนาจให้กองทัพ-กลไกต่างๆ ในระบบราชการ เข้ามาปกครองควบคุมประเทศด้วยเงื่อนไขพิเศษอีกคราว

แต่ภาวะไม่ราบรื่นลงตัวหลังวันที่ 24 มีนาคม อาจผลักดันให้ความต้องการ จะมี “ส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง” ของมวลชนจำนวนมหาศาลพลัน
บังเกิดขึ้น

ถ้าไม่อยากเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาผลท้ายสุดไม่ได้และน่าวิตกเช่นนั้น

การร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ในปัจจุบันให้เข้ารูปลงรอยกับระบบรัฐสภาได้สำเร็จ และมีความสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนมากที่สุด ก็น่าจะเป็นทางออกหลักทางเดียว

ยังไม่สายเกินไป ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะร่วมลงมือแผ้วถางทางออกนี้โดยพร้อมหน้ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image