สถานีคิดเลขที่12 : การเมือง‘ไม่นิ่ง’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ถ้ามองโลกในแง่ดี หลังการเปิดรัฐสภา การเมืองไทยก็กลับมาคึกคัก มีพลวัต มีกระแสดราม่า ซึ่งเรียกร้องความสนใจจากประชาชนจำนวนมากได้ไม่น้อย

บางเรื่องราวอาจมีสาระ บางเรื่องราวอาจฟังดูไร้สาระ แต่เมื่อเกิดวิวาทะ-ข้อถกเถียง ก็ย่อมมีโอกาสที่ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการบางอย่างจะก่อตัวขึ้น หรือนำไปสู่บทสนทนาในมิติที่กว้างขวางกว่าเดิม

มากกว่าการเผลอดูถูก “ส.ส.ตลาดล่าง” อาจเป็นการตั้งคำถามว่า บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันนั้นต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง? ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคม-เครือข่ายชุมชนแบบเดิมที่ยังคงอยู่ และความคาดหวังทางการเมือง-บริบททางสังคมการเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

มากกว่าคำด่าและศัตรูในจินตนาการที่ชื่อ “อีช่อ” เราอาจได้เวลามานิยามความหมายของ “นักการเมืองหญิง” ในสภาผู้แทนราษฎรกันใหม่ และอาจรวมไปถึงการพยายามทำความเข้าใจ ส.ส.ที่มีเพศสภาพหลากหลาย ส.ส.จากกลุ่มชาติพันธุ์ และ ส.ส.ผู้พิการ ซึ่งได้เข้าสภาหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

Advertisement

ความคึกคัก ปมดราม่า จากสภาผู้แทนราษฎร จึงชี้ให้เห็นว่า “การเมือง” ไม่ใช่ “ความสงบเงียบ” หรือการต้องนั่งทนฟังใครพูดคนเดียวมาตลอด 5 ปี

แต่ “การเมือง” คือ การปะทะกันของความแตกต่าง นับตั้งแต่ประเด็น “เล็กๆ” ข้างต้น ไปจนถึงประเด็นที่ “ใหญ่” และส่งผลกระทบต่อส่วนรวมยิ่งกว่านั้น

หลายคนตระหนักดีว่า “การเมืองไม่สงบ” หลังเปิดสภา ไม่ใช่เรื่องที่จะควบคุมจัดการได้โดยง่าย

Advertisement

โดยเฉพาะเมื่อเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่นั้นเลือกเส้นทางหนึ่ง แต่ความต้องการของผู้มีอำนาจบางส่วนกลับอยากเดินไปอีกทาง แถมกฎกติกาก็ดันเปิดช่องเอาไว้

สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกในรอบหลายปี จึงมีประธานสภาผู้แทนฯ/ประธานรัฐสภา ที่มิได้มาจากพรรคการเมืองซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และมิได้มาจากพรรคการเมืองใหญ่สุดในขั้วซึ่งกำลังพยายามดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล

นี่เน้นย้ำให้เห็นว่าการเมืองไทยยุคปัจจุบัน คือ เกมอำนาจที่เต็มไปด้วยการปรับประสานต่อรอง

เช่นเดียวกันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน

แม้หลายคนคงพอคาดเดาภาพอนาคตไว้ได้ระดับหนึ่ง ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร และไม่น่ามีอะไรผิดเพี้ยนไปจากนั้น

แต่กระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง และผลกระทบต่อเนื่องหลังการโหวตเลือกผู้นำประเทศ กลับเป็นสิ่งสลับซับซ้อนที่ประเมินได้ยากและคาดเดาได้ไม่ง่ายนัก

เมื่อการตั้งรัฐบาลไม่สามารถทำได้ด้วยการสั่งการและการเลือกจิ้มของคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ แต่คือการต่อรอง-แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ระหว่างพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจำนวนมาก

ขณะที่การดำรงอยู่ของ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ก็ไม่สามารถพึ่งพา “อำนาจเด็ดขาด” (ที่จะไม่มีอีกต่อไป) แต่ต้องอาศัยชั้นเชิงการต่อรอง-แลกเปลี่ยนที่ยกระดับขึ้นไปอีก

ท่ามกลางสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตามสภาพการณ์ที่ผันแปรไป

ดูเหมือนคนเป็น “นักการเมือง” ทั้งหลาย จะเข้าใจดีว่าพวกตนกำลังต้องพบเจอกับอะไรบ้าง

แต่คนมีอำนาจที่เพิ่งได้เข้ามา “เล่นการเมือง” จริงๆ จะเข้าใจแบบเดียวกันหรือไม่? จะรับ-รุก เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่นิ่งต่างๆ นานาได้อย่างไร? (โดยไม่ต้องเดินออกนอกกรอบประชาธิปไตยอีกหน)

นี่คือสิ่งที่ต้องจับตาหลังวันที่ 5 มิถุนายน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image