สถานีคิดเลขที่12 : ซ้อมยาก ซ้อมย่อยซักฟอก : โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 25 กรกฎาคมนี้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

แต่ถึงแม้ ไม่ลงมติ ไม่ส่งผลต่อสถานะรัฐบาล

ฝ่ายค้านได้เตรียมการ จัดขุนพล ล็อกเป้ารัฐมนตรี ประเด็นอภิปรายเต็มที่ ไม่ต่างกับการใช้มาตรการสูงสุดตรวจสอบรัฐบาล

Advertisement

เปรียบเป็นการซ้อมย่อยอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ต่อกรณีดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกโรงดักคอ ระบุแถลงนโยบาย ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Advertisement

ใครต่อใครหลายคน รุมจวก นายกฯไม่เข้าใจระบบ คุ้นชินแต่สั่งการ ซ้ายหัน ขวาหัน

อันที่จริง ‘บิ๊กตู่’ ก็คงพูดไปอย่างนั้นเอง

และไม่ผิดหรอก ที่ระบุว่า แตกต่างกับการซักฟอก

คนระดับนายกฯมีหรือจะไม่รู้

แต่ที่พูด คงต้องการฟ้องประชาชน ให้จับตาฝ่ายค้านมากกว่าว่า ได้ทำหน้าที่อยู่ในกรอบ ถูกต้องหรือไม่

เพราะถึงแม้ไม่ใช่ญัตติ ไม่ไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้าน นักการเมืองเจนจัด มีเทคนิคการพูด ไม่ทิ้งโอกาสทองแน่

คงร่ายนโยบาย อภิปรายทะลุถึงการเลือกเฟ้นคนมานั่งในตำแหน่งบริหาร ชี้ให้เห็นปูมหลังรัฐมนตรี และประการต่างๆ ในทางที่อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา

พูดภาษาชาวบ้านก็คือไม่ไว้วางใจ บางคนบางท่านนั่นแหละ

ฝ่ายค้านรู้ดีว่า การอภิปรายไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แต่ก็ตั้งใจเขย่า ตีแผ่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นผู้ตัดสิน

เพาะเชื้อสร้างผลสะเทือนในทางการเมือง

อย่างไรก็ตามกระบวนการของการใช้เวทีแถลงนโยบาย อภิปราย ชำแหละรัฐมนตรี ไม่น่าวิตกใดๆ ทุกอย่างอยู่ในกรอบกติกา

มีประธานสภาคอยทำหน้าที่กำกับให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับการประชุม

ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง นอกประเด็น

จริงอยู่ไม่มีใครอยากให้สมาชิกอภิปราย กล่าวหา

แต่ผู้ถูกพาดพิง ก็มีสิทธิตอบโต้ อภิปรายชี้แจงเช่นกัน และไม่ต้องกลัว การบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้าย

เนื่องจากฝ่ายค้าน ก็ต้องรับผิดชอบข้อมูลด้วยเช่นกัน

มั่วไม่ได้ เท่ากับฆ่าตัวตาย ประชาชนไม่เชื่อถือ

ฝ่ายค้านไม่ต้องรับผิดชอบบริหารบ้านเมือง แต่ต้องรับผิดชอบสูง ในงานตรวจสอบฝ่ายบริหารในระดับต่างๆ

แต่โดยกติกาการเมืองก็ดี บริบทการเมือง การต่อสู้ในวิถีทางก็ดีบีบบังคับ

ฝ่ายค้านปัจจุบัน ทำงานไม่ง่าย ชกใต้เข็มขัดไม่ง่าย

การอภิปรายในเวทีแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการลงมติ ไม่ระคาย ส่งผลต่อสถานะรัฐบาล

นายกฯและรัฐมนตรี เพียงแต่เตรียมการให้ดี

เวทีนี้ ไม่ใช่เป็นเวทีเจ็บตัว เสียหายของฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว

หากแต่เปิดกว้างสำหรับทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กัน มิได้ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของฝ่ายค้านอย่างเดียว

อยู่ที่ต้นทุน หน้าตักรัฐบาลด้วย

การเมืองยุคใหม่ไม่ง่าย แต่ก็ยากคนละแบบ รัฐบาลนั้่น บริหารบ้านเมืองยากแน่ๆ

แต่ฝ่ายค้าน ก็ไม่ยิ่งหย่อน

ไม่ต้องคิดไกลถึงขั้นล้มรัฐบาลหรอก ซึ่งยากมาก

การต่อสู้ ในวิถีทาง ภายใต้กติกาที่ดีไซน์มาแบบนี้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะได้โดยเสียงในสภา

ฝ่ายค้านต้องปรับรูปแบบใหม่ มองทางยาวเป็นหลัก มุ่งไปที่การสื่อสาร โน้มน้าว เอาชนะใจประชาชน

ดังนั้นไม่ว่าการอภิปรายโดยไม่ลงมติ หรือ ลงมติ

รัฐบาลอาจงานง่ายกว่าฝ่ายตรวจสอบด้วยซ้ำ แค่โชว์ให้เข้าตา

เนื่องจากฝ่ายค้าน ต้องใช้สติปัญญา สร้างสรรค์ ยกระดับให้เหนือกว่า

สู้แบบเก่าไม่ได้

ยุคใหม่ ต้องใช้วิธีใหม่ สภาพการณ์มันบังคับ เรียกร้องงานคุณภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image