สถานีคิดเลขที่12 : เหตุคับข้องใจ : โดย นฤตย์ เสกธีระ

อาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ได้ทวีตข้อความน่าสนใจที่ขอคัดมาเผยแพร่

เป็นข้อความชี้แจงเหตุผลต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าทำไม อาจารย์โกวิทถึงโพสต์ถ้อยคำวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเชิญไปพบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม

ข้อความที่อาจารย์โกวิททวีตนี้เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำขอจากเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

อาจารย์โกวิททวีตสรุปได้ว่า เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญต้องการชี้แจงให้อาจารย์โกวิทเข้าใจ

เข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และ 32 ส.ส.กรณีถือหุ้นสื่อ

โดยฝ่ายหนึ่งต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้อง

Advertisement

ขณะเดียวกันก็มองว่าการทวีตข้อความของอาจารย์โกวิทในกรณีดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสม

สำหรับคำอธิบายจากเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวนั้น มีเอกสารประกอบ

นั่นคือ กรณีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น ทาง กกต.ได้สืบสวนมาพอสมควรแล้ว มีเอกสารจากกระทรวงพาณิชย์ยืนยัน

ขณะที่กรณีของ 32 ส.ส.มีเพียงหนังสือบริคณห์สนธิระบุจุดประสงค์ของบริษัท

หลักฐานเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ส่วนคำชี้แจงของอาจารย์โกวิทกรณีที่ได้ทวีตข้อความอันเป็นต้นเหตุให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเชิญตัวมาพบนั้น

อาจารย์โกวิทได้อธิบาย โดยยกเอาคำว่า “เทคนิแคลิตี้” มาอธิบาย

เทคนิแคลิตี้ หรือเทคนิคทางกฎหมาย มีหลายอย่าง อาทิ หมดอายุความ ฟ้องผิดที่ฟ้องผิดมาตรา

มีตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางกฎหมาย

นั่นคือ คดี มิแรนด้า V อริโซน่า ซึ่งมีการยกฟ้องผู้ต้องหาที่ลักพาตัวและข่มขืน เพราะตำรวจไม่ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบตอนจับกุม

เรียกได้ว่าไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง เพราะขั้นตอนจับกุมไม่ถูกต้อง

อาจารย์โกวิทยกตัวอย่างคดีนี้ประกอบการอธิบายคำว่า “เทคนิแคลิตี้”

พร้อมถามว่า ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ของหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปข่มขืน การอธิบายผลการตัดสินว่าเป็นเทคนิแคลิตี้จะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นธรรมหรือไม่

กรณีเช่นนี้ใครที่รู้สึกว่าความยุติธรรมไม่เกิดก็ย่อมเกิดความคับข้องใจ

สุดท้ายอาจารย์โกวิทได้ขออภัยต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยทางเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญขอให้อาจารย์โกวิทชี้แจงต่อประชาชนตามที่ได้ให้เหตุผลไป

อาจารย์โกวิทจึงนำเอาเนื้อความดังกล่าวมาทวีต

เนื้อความที่อาจารย์โกวิททวีต ถือเป็นข้อความที่น่าศึกษา

ศึกษาว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้สองฝ่ายที่ขัดแย้งยอมรับในกระบวนการ

ทำอย่างไรให้ “เทคนิแคลิตี้” เป็นกลไกที่เกื้อหนุนความยุติธรรม ไม่ใช่กลไกที่ขัดขวาง

และทำเช่นไรให้ความรู้สึกคับข้องใจที่เกิดจากเหตุดังกล่าวเหล่านี้หมดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image