สถานีคิดเลขที่12 : สถานการณ์-วีรบุรุษ : โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ใช้เครื่องมือสูงสุดในการบริหาร สกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

มีการออกข้อกำหนด กฎห้าม ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 รวมถึงมาตรการเตรียมการรับสถานการณ์ รวม 16 ข้อ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะในประเทศไทย นับวันขยายวงกว้าง ตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่มีวี่แววลดจำนวนลง

รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็น ต้องงัดกฎหมายพิเศษ ออกมาใช้แก้ปัญหา

Advertisement

มีการโอนอำนาจ หน้าที่ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวม 40 ฉบับ

นักวิชาการบางท่านมองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ไม่ต่างรัฐประหารเงียบ

เนื่องจากเป็นการหยุดกลไกทางการเมือง คล้ายปิดสภา บทบาทพรรคการเมืองต้องยุติไป มีการเข้ามาควบคุมสื่อ ยกอำนาจดำเนินการให้ฝ่ายข้าราชการประจำ ห้ามชุมนุม มีอำนาจจัดการกับผู้เห็นต่าง อำนาจรวมอยู่กับตัวนายกฯเพียงคนเดียวเท่านั้น

Advertisement

แม้นักวิชาการเห็นว่า ไม่ควรนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปครอบกลไกปกติ จนหายไป

แม้ฝ่ายค้านทักท้วง ชี้ว่า รัฐมิได้ขาดเครื่องมือการบริหาร จัดการแก้ไขปัญหาแต่ประการใด

การบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพต่างหาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่า ‘นี่เป็นความจำเป็นต่อสถานการณ์สุขภาพของประชาชนโดยรวม’

ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์สวมหน้ากากอนามัย อีกประการที่แปลกต่างออกไปก็คือการแสดงออก นายกฯเลือกชูกำปั้นเหนือศีรษะ แทนการให้สัมภาษณ์ ถึงการใช้มาตรการยาแรงแก้ปัญหาระบาด ซึ่งก็มีผู้ตีความต่างๆ นานา รวมถึง การประกาศตัวเป็นผู้นำ (ทั้งที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหารอยู่แล้ว) นำฝ่าวิกฤตนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สูญเสียภาวะความเป็นผู้นำไปมากในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วง 1 ปีของการเป็นรัฐบาล ในหีบห่อผลิตภัณฑ์จากการเลือกตั้ง

เนื่องจากการบริหารในสถานการณ์ปกติ ต่างกับห้วงรัฐบาลทหารในยุค คสช.

มีฝ่ายค้าน มีระบบควบคุม ตรวจสอบการทำงาน ในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะออกมาตรการ/นโยบาย หรือขยับอะไร ส.ส.จะวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน ทำหน้าที่ชี้ให้เห็นในแง่มุมประการต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงบริหาร เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบวิสัยทัศน์บริหาร และอะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานา ซึ่งตลอดห้วงการบริหารในสถานการณ์พิเศษของ คสช.ไม่เคยมี เนื่องจากระบบแต่งตั้ง และดาบพิเศษนั้น ได้ปิดปาก ปิดกั้น ความเห็นต่างอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ระบบปิดนั้น ได้เปิดให้ ‘บิ๊กตู่’ โชว์ความเป็นลีดเดอร์ชิปได้อย่างเต็มที่ แต่เพียงผู้เดียว

วันนี้สถานการณ์ของการประกาศภาวะฉุกเฉิน คล้ายกับประเทศ อยู่ในช่วงของการขอเวลาอีกไม่นาน ก่อนเลือกตั้ง

เป็นฤดูกาลแห่งรัฐประหารเงียบ

การประกาศภาวะฉุกเฉิน รวบกฎหมาย 40 ฉบับมาอยู่ในมือนายกฯเพียงคนเดียว เท่ากับเปิดโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาฟื้นฟูภาวะความเป็นผู้นำ ที่สูญเสียไปอีกครั้ง

แต่การทิ้งไพ่ใบสุดท้าย เทหมดหน้าตัก ใช้เครื่องมือสูงสุดสกัดกั้นโรคแพร่ระบาด ก็เป็นดาบสองคม

หากเอาอยู่ สามารถลดทอนความสูญเสียจากเชื้อไวรัสมรณะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ‘บิ๊กตู่’ ก็อวดอ้างความสำเร็จนั้น เป็นผลงานได้

กอบกู้ภาวะความเป็นผู้นำที่สูญเสียไปกลับคืนมาใหม่ได้

แต่หากล้มเหลว ก็ย่อมต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

สถานการณ์มิได้สร้างวีรบุรุษเสมอไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image