สถานีคิดเลขที่12 : เดินไปในวิกฤต : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ประเทศไทยอยู่ภายใต้มาตรการฉุกเฉินมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

การดำรงชีวิตในช่วงนี้ แตกต่างกันไปตามสถานะของแต่ละคน ถ้าเงินทองเหลือใช้ก็ไม่มีอะไรเดือดร้อน ความสะดวกสบายอาจน้อยลงไปบ้าง

ทุกข์ร้อนถ้าจะมีก็คือ ถ้าทำธุรกิจ ก็ต้องบวกลบคูณหารให้ดี

ข้าราชการอาจต้องเปลี่ยนแปลงการทำงาน แต่ผลตอบแทนไม่น่าจะกระทบ

Advertisement

คนทำงาน มนุษย์เงินเดือน ส่วนหนึ่ง ต้องกลับไปทำงานที่บ้าน ที่เรียกว่า เวิร์กฟรอมโฮม ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบประชุมออนไลน์ ในการเชื่อมโยงกัน

กลุ่มนี้ยังมีงานทำมีเงินเดือนใช้ แต่ก็ยังต้องลุ้นระทึกว่า ถ้าลากยาวต่อไป เงินเดือนและสิทธิสวัสดิการต่างๆ จะเหลือเท่าไหร่

ส่วนที่ตกงานเพราะกิจการปิด ก็เก็บตัวในบ้าน ในที่พักอาศัย กินน้อยใช้น้อย รัดเข็มขัดสุดขีด ต้องสำรวจเงินสำรองของตัวเองว่าเหลือเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ติดตามข่าวสารว่ารัฐบาลและภาคราชการจะเยียวยาอย่างไรบ้าง เพื่อจะบริหารจัดการให้พอยาไส้ ขณะที่ยังคาดการณ์อนาคตไม่ได้

Advertisement

ที่น่าห่วงคือ กลุ่มอาชีพอิสระ ที่ปกติรับค่าจ้าง ค่าตอบแทนรายวัน ซึ่งมีจำนวนมาก แม้รัฐบาลจ่ายเยียวยา 5 พันบาท แต่มีปัญหาในการเข้าถึง บางคนบอกว่า กรอกไม่เป็น เจอด่านเอไอแสนรู้สกัด ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

สำหรับกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับการโอบอุ้ม จากราชการบ้าง จากภาคเอกชนเองลงมาช่วยกันหลายบริษัทด้วยกัน ถือเป็นน้ำใจในยามยากระหว่างคนไทยด้วยกัน

ส่วนกิจการไหนที่เห็นแก่ได้เสมอต้นเสมอปลาย แสวงหาประโยชน์แม้ในยามเพื่อนร่วมชาติลำบากสุดๆ ก็ช่วยกันจำๆ กันเอาไว้ด้วย

บ้านเมืองตอนนี้ อุณหภูมิค่อยๆ ร้อนขึ้นมาทีละเล็กละน้อย สวนทางกับฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากหน้าร้อนไปสู่ฤดูฝน

รัฐบาลเอง ประสบความสำเร็จ ในการทำให้สังคมเห็นพ้องว่า จะต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาแก้ปัญหา โดยจะออกเป็นพระราชกำหนด 3 ฉบับ และพระราชบัญญัติ 1 ฉบับ

ก็ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ เคยมีรัฐบาลพยายามกู้เงินก้อนใหญ่มาใช้ในโครงการพัฒนา โดนถล่มสะบักสะบอมว่าจะก่อหนี้ก่อสินให้ลูกหลาน

รอบนี้ก็อยู่ที่ว่า รัฐบาลจะใช้เงินยังไง ให้มีผลเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากไวรัสจริงๆ

การฟื้นฟูวิกฤตที่ยั่งยืนที่สุด นอกจากต้องมีงบไว้ช่วยแล้ว แนวความคิดก็เป็นเรื่องสำคัญ

อย่างระยะนี้ ต้องมานั่งคิดกันว่า ในใจกลางวิกฤตที่ทุกอย่างหยุดนิ่งหมด จะช่วงชิงให้เกิดโอกาสได้อย่างไร

ที่คณะที่ปรึกษาภาคธุรกิจเอกชนของ ศบค. พยายามหารือเพื่อรีสตาร์ตธุรกิจกันอีกรอบ เป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันไวรัส

ประเทศจะเดินไปยังไงในวิกฤตโควิด เป็นโจทย์ที่มีผลต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image