สถานีคิดเลขที่ 12 : สุขภาพจิตก็สำคัญ โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : สุขภาพจิตก็สำคัญ

เมื่อเวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่ง คนไทยก็เริ่มทนไม่ไหว คนจนยากไร้ที่ทนความอดอยากไม่ได้ เริ่มออกจากที่พักมาหาอาหารด้านนอก

หลายจุดที่มีการแจกข้าวแจกอาหารจะมีผู้ไปรอรับกันเยอะ
ทำให้คนไทยบางคนได้รับประสบการณ์ที่ไม่เชื่อสายตาตัวเอง อาทิ มีคนมายกมือไหว้ ขอให้เลี้ยงข้าว

เงินไม่ต้อง ขอข้าวกับอาหาร สำหรับเขาและลูกๆ ก็พอ

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุก็เริ่มทนไม่ได้กับการอยู่บ้าน สุดท้ายก็หาข้ออ้างเพื่อออกนอกบ้านกันเป็นระยะ

Advertisement

เช่นเดียวกับคนวัยทำงาน ที่มีงานทำแต่ต้องหยุดทำงาน

เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจที่ทุกเวลาที่ผ่านคือการเผาเงินทิ้งไปกับต้นทุน

ทุกคนเริ่มรู้สึกว่า อยู่นิ่งๆ กันต่อไปไม่ได้แล้ว

Advertisement

วันที่ 28 เมษายน จึงเป็นวันที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในกรอบ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะแก้ไขปัญหา “เริ่มทนกันไม่ไหว”
ได้อย่างไร

อาการที่ทนไม่ไหวนี้ มีผลเกี่ยวข้องกับความเครียด

ความเครียดมีผลต่อสุขภาพจิต

คำเตือนจากนักวิชาการที่เกาะติดเรื่องการฆ่าตัวตายนั้นเป็นสิ่งที่น่ารับฟัง

และเชื่อว่ารัฐบาลก็เริ่มรับฟังแล้ว

วันนี้ได้เห็นการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้าไปดูแลผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่

เห็นเจ้าหน้าที่รัฐลงชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน

เริ่มเห็นความพยายามของจังหวัดที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ

มีข่าวว่าบางจังหวัดให้เปิดร้านตัดผม เปิดสวนสาธารณะ และเปิดร้านอาหาร

หลายธุรกิจเองก็ขยับเปิดดำเนินการ ภายใต้มาตรการสาธารณสุข

วันนี้มีข้อสรุปแล้วว่า ฝ่ายราชการตัดสินใจต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน

แต่ 1 เดือนต่อไปนี้ ประชาชนจะมีปฏิกิริยาไม่เหมือน 1 เดือนที่ผ่านมา

เหตุผลเพราะ “เริ่มทนไม่ไหว”

วันนี้แต่ละคนแต่ละวัยแต่ละสาขาอาชีพต่างเงี่ยหูฟัง

ฟังว่า เขาจะยอม “ผ่อนคลาย” ขนาดไหน

ผ่อนคลายเพื่อให้มีการเรียนการสอน เพื่อให้ทำการงานอาชีพกันได้

ขณะเดียวกัน 1 เดือนที่ผ่านมา คนไทยก็มีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 มากขึ้น

เริ่มเปลี่ยนจากความกลัวมาเป็นความเข้าใจ

การสวมหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ กินอาหารปรุงสุก เว้นระยะห่าง 2 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิ และอื่นๆ เริ่มเป็นนิสัย

ถ้ากฎกติกาหรือมาตรการมีแค่นี้ หลายคนก็เริ่มมั่นใจว่าจะทำมาหากินกันได้ภายใต้มาตรการสาธารณสุข

คนเริ่มมีความหวัง ธุรกิจก็เริ่มมีความหวัง

เมื่อมีความหวัง ความเครียดก็ลดลง

ดังนั้น มาตรการผ่อนคลายจึงเสมือนยารักษาสุขภาพจิต

ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว เวลา 22.00-04.00 น. จะเป็น “ยาแรง” สู้กับโควิด

ปกป้องรักษาสุขภาพคนไทยให้ปลอดจากการระบาด

มาตรการผ่อนคลายก็คือ “ยา” อีกขนานที่ปกป้องคนไทยจากความเครียด

ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ล้วนมีความสำคัญ

จะทำอย่างไรถึงจะทำให้คนไทยมีทั้งสุขภาพกายที่แข็งแกร่งและสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image