สถานีคิดเลขที่12 : หลังม่าน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน : โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลโดย ศบค. แถลงผ่อนปรนเปิดห้าง ดำเนินกิจการธุรกิจระยะที่สอง แบบมีเงื่อนไข และประกาศ ย่อเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานสั้นลง 1 ชั่วโมง จากเดิมระหว่าง 22.00-04.00 น. เป็นเริ่ม 5 ทุ่มถึงตี 4

แต่ที่มิได้เอ่ยถึง คือการพิจารณาทบทวน การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างจริงจัง

ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ย่ำอยู่ที่หลักเดียว เทียบกับการป่วยไข้จากโรคอื่นๆ ทั่วไปแล้วต่ำมาก อยู่ในระดับปกติ เพียงแต่โควิดยังไม่มีวัคซีนรักษาเฉพาะ เหมือนกับโรคอื่นๆ เท่านั้น

แต่ก็สามารถรักษาตามอาการ

Advertisement

จำนวนผู้ป่วยที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ มีจำนวนไม่มากนัก

ที่หวั่นวิตก ระบบสาธารณสุขของไทยจะไม่สามารถรองรับได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศในยุโรป เอาเข้าจริงสถานการณ์ไม่เลวร้าย รุนแรงถึงขั้นนั้น

หากจะมีความดี ความชอบเกิดขึ้น จากการสกัดกั้น ควบคุมระบาด

Advertisement

เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับรัฐบาล

แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี ตัดสินใจถูกต้อง มาตรการเข้ม กฎหมายเหล็กได้ผล

แต่โดยที่การประกาศใช้ข้อกำหนด กฎเข้ม คำสั่งห้ามต่างๆ นั้น แลกมาด้วยการละเมิดสิทธิ จำกัดปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรม ประกอบกิจการประการต่างๆ

ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ที่สถานการณ์ผ่อนคลาย ก็ไม่มีเหตุผลความจำเป็นอันใดต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ที่ขัดกับหลักการปกครอง แบบมีส่วนร่วม อันมีรัฐธรรมนูญกำกับเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดอีกต่อไป

เหตุที่รัฐบาลมิได้ระบุถึงการทบทวน การยกเลิก พ.ร.ก.

อาจเป็นเพราะ ยังมีเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนถึงเส้นตาย 31 พฤษภาคม ที่ต้องตัดสินใจว่า จะยืดเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 1 เดือน หรือยกเลิก

นั่นก็แปลว่า แม้ว่าจะสั่งยกเลิกวันใดก็ได้ นาทีนี้ก็ได้

แต่รัฐบาลประสงค์จะใช้อย่างต่ำจนถึงสิ้นเดือนนี้

เต็มเพดานการต่ออายุ 1 เดือน

รัฐบาลอาจเห็นว่า ไหนๆ ก็ขยายจากเดือนเมษาฯ คลุมถึงพฤษภาฯ แล้ว

อีกแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องทบทวนไปพร้อมกับการผ่อนปรนเฟส 2 ซึ่งก็พอเข้าใจได้ โดยเฉพาะเมื่อมองถึงพื้นฐานที่มารัฐบาล

แต่ก็มองได้เช่นกัน มิใช่หรือว่า

เป็นเพราะรัฐบาลได้ประโยชน์จาก พ.ร.ก.หรือไม่ รวบอำนาจบริหาร ปิดปากฝ่ายค้าน ห้ามชุมนุม

ไม่ต่างกับรัฐประหารเงียบ

การกล่าวอ้างโพล 88% หนุน การคิดจะทำผลสำรวจใหม่มาใช้ในนามของการเป็นข้อมูลหนึ่ง ประกอบการตัดสินใจ ทั้งที่ความจำเป็นในการขยายลดน้อยถอยลงตามลำดับ กระทั่งไม่มีความจำเป็น เมื่อตัวเลขติดเชื้อไม่มีนัยสำคัญอีกต่อไป เป็นอีกร่องรอยความพยายาม คล้ายกับต้องการยื้อใช้ต่อ

หากตั้งใจยกเลิก ไม่จำเป็นต้องทำโพล

ข้อมูลตัวเลขที่มี เพียงพอต่อการตัดสินใจแล้ว ว่าต้องยกเลิก

ปรับโฟกัส หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพปากท้อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นด้านหลักโดยเร็ว เรื่องโควิด มีหน่วยงาน กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ มี พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นเครื่องมือ บริหารจัดการแก้ปัญหา เพียงพอ มากพอรับมือได้

แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะดำรงคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ไม่ยกเลิกแม้แต่จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเกิน 28 วัน ประมาณ 50 จังหวัด และอีกอย่างน้อย 9 จังหวัดที่ปลอดเชื้อ ไม่พบคนติดโควิดเลย ทั้งที่มีอำนาจสั่งยกเลิกบางพื้นที่ได้ แต่ก็ยังประกาศใช้ครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร-ทั้งประเทศ

อย่างนี้จะไม่ให้ถูกมองเป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร

หากจะหยิบยกเหตุผล ที่ไม่ยกเลิก เพราะไม่วางใจสถานการณ์ก็ฟังไม่ขึ้น

ตัวเลขติดเชื้ออยู่ในระดับคุมได้ ไม่มีนัยสำคัญ

หรือว่าที่นั่งแถลงทุกวัน ตัวเลขปั้นตบตา ตรวจหาเชื้อจริงแค่หลักหมื่น

เบื้องหลังถ่ายทำ เลิก พ.ร.ก.ไม่ได้

รัฐบาลนั่นแหละรู้อยู่แก่ใจ รู้ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image