สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองกลับมา : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน 

สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองกลับมา : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ที่ฮ่องกง เมื่อโควิดซา ม็อบก็กลับมาทันที เนื่องจากเดิมทีที่เคยประท้วงกันดุเดือดและยืดเยื้อยาวนานเป็นเวลากว่าครึ่งปี 2562 ที่ผ่านมา พอย่างเข้าสู่ปี 2563 การประท้วงต้องสะดุดไป เพื่อหลีกทางให้กับวิกฤตไวรัสระบาด

แต่ก็เป็นการหยุดชั่วคราว ในขณะที่ปมประเด็นการต่อสู้ยังคาราคาซังอยู่ จึงเป็นเหมือนแค่พักรบไปเท่านั้น

วันนี้ก็ได้เวลากลับมาลงสนามกันใหม่

Advertisement

ส่วนในไทยเรา มีแฟลชม็อบของนักศึกษา เกิดขึ้นแทบทุกมหาวิทยาลัย ลุกฮือกันยกใหญ่ในช่วงปลายปี 2562 แล้วก็ต้องหยุดพักชั่วคราวเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มระบาดหนักในไทยเรา

นี่ก็พักรบเช่นกัน จะกลับมาเมื่อไหร่ ต้องติดตามกันต่อไป แต่น่าเชื่อว่าคงกลับมาใหม่แน่นอน

เพราะสถานการณ์ปัญหาเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง

Advertisement

จึงวิเคราะห์กันได้ไม่ยากว่า เมื่อปัญหาโควิดซาลงไป สถานการณ์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจจะต้องร้อนแรงขึ้นมา

ในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้าที่ยังต้องหยุดกิจการกันเป็นส่วนใหญ่ เปิดได้บ้างก็ทำรายได้เพียงน้อยนิด ปัญหาคนตกงาน ปากท้องชาวบ้าน จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังจะระเบิดออกมา

แม้แต่เงินเยียวยาที่แจกจ่ายไป ก็ใกล้จะใช้จ่ายหมดแล้ว ขณะที่อาชีพการงานยังไม่กลับมา

อะไรจะเกิดขึ้น

ในส่วนการเมือง ที่แน่นอนก็คือ หลังจากสภาพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน รวม 5 วัน จนถึงวันสิ้นเดือนนี้

เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมิถุนายน น่าเชื่อว่าความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อคลื่นใต้น้ำมาหลายระลอก

น่าจะถึงจุดแตกหัก

การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาล มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างแน่

แล้วผลจากการเปลี่ยนแปลง จะนำไปสู่ศึกใหม่ที่ใหญ่กว่าหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด

ไม่แค่เปลี่ยนแปลงภายในพรรคเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อเก้าอี้รัฐมนตรีอีก

ด้วยการปรับ ครม. ติดค้างมาตั้งแต่หลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีเก้าอี้รัฐมนตรีบางเก้าอี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดข้อมูลของฝ่ายค้าน ส่งผลให้ภายในพรรครัฐบาลเอง ก็โดดเข้าร่วมวงขยายผล เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เสียงเพลงเก้าอี้ดนตรีเริ่มดัง คำโบราณสมบัติผลัดกันชม เริ่มอื้ออึง

ดังนั้น การเมืองในพรรครัฐมนตรี ในคณะรัฐบาล จะเริ่มร้อนแรงแน่นอน หลังโควิดซาในเดือนหน้า

รวมไปถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของพลังคนรุ่นใหม่ แฟลชม็อบของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่ยังติดพันและติดค้างกันอยู่

เหล่านี้เอง ที่นำมาสู่ข้อครหา ยังไม่เลิกใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

ไม่ใช่แค่ควบคุมโรคภัยสาธารณสุข แต่มุ่งควบคุมการเมืองด้วย

แต่คงจะไม่สามารถใช้กฎหมายและอำนาจพิเศษนี้ไปตลอดกาลได้กระมัง

ทางคลี่คลายสถานการณ์การเมือง ยังมีอีกหลายทาง ต้องเลือกให้ถูกต้องเหมาะสม

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image