สถานีคิดเลขที่12 : NEXT – ตุลาฯ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 : NEXT – ตุลาฯ

แปลกใจไหม กับมติรัฐสภา

ที่ให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก่อนรับหลักการ

คำตอบคือ ไม่

เพราะเราได้เห็นการวางแทคติค เพื่อขัดขวางเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น

Advertisement

ตั้งแต่เมื่อ ม็อบซึ่งแม้ฝั่งฟากรัฐบาลเหยียดว่าเป็นแค่ม็อบมุ้งมิ้ง เสนอ 3 ข้อเสนอ อันรวมถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ก็ไม่อาจแข็งขืนปฏิเสธ “ข้อเสนอมุ้งมิ้ง” นั้นได้

จำต้องดำเนินการตาม แต่ก็พยายามวางแทคติค “ขวาง” ไว้ตลอดรายทาง

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ โยนให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอ

แทนที่จะเป็น รัฐบาล เสนอ

ทั้งที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 12 นโยบาย “เร่งด่วน” ของรัฐบาลที่จะต้องทำ

แต่รัฐบาลก็พยายาม “ลอยตัว”

เสมือนหาทางออกล่วงหน้าหากกระบวนการการแก้ไขล้มหรือมีปัญหา รัฐบาลจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ

ปล่อยเป็น เรื่อง รัฐสภาไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงบอกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งนั่นแหละว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง ส.ส.และ ส.ว.

และพยายามไม่ส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะเอาอย่างไร

กระนั้นก็มีข่าวว่าในหมู่ ส.ว.ได้รับสัญญาณเรื่องนี้ก่อนล่วงหน้า จะออกในทาง “ซื้อเวลา”

มิใช่รู้ ชั่วโมง สองชั่วโมง อย่างที่พยายามบอกกัน

และทุกอย่างเป็นไปตามนั้น

แต่ถามว่า เป็น “ชัยชนะ” ของฝ่ายที่กุมอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหารและสืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบัน หรือไม่

คำตอบต่อเรื่องนี้ ยังน่าสงสัยอยู่

เพราะถ้าการได้ยื้อเวลาออกไป 30 วันถือเป็นชัยชนะแล้ว

ก็ถือเป็นชัยชนะ “อันน่าใจหาย”

อย่าลืม รัฐธรรมนูญนี้ ถูกวางเล่ห์และออกแบบให้แก้ไขยาก หรือแทบแก้ไขไม่ได้เลย

แต่เอาเข้าจริง ก็เจอการบุกทะลวงกดดันจากฝ่ายที่ต้องการปลดแอก จนฝ่าทะลวง ทำท่าจะสามารถยื่นแก้ไขได้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังต้องกระโดดร่วมขบวน

แม้เป็นการร่วมขบวนอย่างละล้าละลัง เพราะใจจริงไม่อยากแก้

แต่ ก็ไม่กล้าผนึกกับ ส.ว. ลงมติ คว่ำ

ต้องซื้อเวลาออกไปอย่างที่เห็น

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาล คล้ายจะ “รุก” แต่ก็เป็นการรุกถอยหลังไปเรื่อยๆ

หากเปรียบเทียบกันแล้ว การตัดสินใจเช่นนี้ นอกจาก เวลาที่ได้เวลามา 30 วันดังกล่าวแล้ว

หากไปเทียบกับสิ่งที่เสียไป

ไม่รู้ว่าคุ้มค่าหรือไม่

โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายกุมอำนาจ

ด้วยตอนนี้ คำว่า ไม่จริงใจ

คำว่า หลอก

คำว่า ปาหี่

คือสิ่งที่ประเคนเข้าใส่รัฐบาล

และนี่เป็นเงื่อนไขอันสำคัญ ที่จะทำให้มวลชน “ประชาชนปลดแอก” ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นข้อแตกต่างกับฝ่ายรัฐบาลที่ดูเหมือน รุก แต่กลับ ถอย

ขณะที่ ฝ่าย “ม็อบ” แม้จะเผชิญข้อกล่าวหาต่างๆ รุนแรงชนิดทะลุเพดาน

จนมีการเย้นหยันว่ากำลังสูญเสียแนวร่วมมหาศาล

แต่หากย้อนกลับไปดูการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ลานพญานาค ธรรมศาสตร์ รังสิต เรื่อยมาจนถึง ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไปตรึงหมุด ณ ท้องสนามหลวง และไปปิดล้อม ณ สัปปายะสภาสถาน

ข้อเรียกร้องทั้งในเชิงสัญลักษณ์ เชิงนามธรรม ไปจนถึงรูปธรรมอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้จะห่างไกล ความสำเร็จ

แต่ มันกลับ “ตรึง” และ “ขยาย” แนวร่วมให้มั่นคงและมากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกับยังเขย่า “สิ่งเดิมๆ” ให้สั่นสะเทือนรุนแรง

อย่างที่หลายคนไม่นึกว่าจะได้เห็นในชีวิต ก็ยังบังเกิดขึ้นให้เห็นแล้ว

การชุมนุม ที่สามารถสถาปนา “สนามราษฎร” ขึ้นในใจของคนจำนวนมาก

กำลังถูกท้าทาย ด้วยการชุมนุมที่ราชดำเนินในเดือนตุลาคมนี้

ความหมายใหม่ๆ จะถูกสถาปนาขึ้นได้ ณ ที่นั้น อีกหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นการซื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ

คงต้องติดตาม

NEXT – ตุลาคม

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image