สถานีคิดเลขที่12 : ทางออก-ทางตัน

ฝ่ายการเมืองเห็นพ้อง ที่จะใช้เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกแก้ปัญหาขัดแย้ง

แกนนำรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ แถลงท่าทีชัดเจน

อย่างน้อยสัปดาห์หน้า สมาชิกรัฐสภาจะโหวตรับหลักการ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง

ขณะที่ร่างฉบับฝ่ายค้าน ที่มีหลักการเหมือนกัน แก้มาตรา 256 แต่เนื้อใน ที่มา ส.ส.ร.ต่างกันนั้น

Advertisement

แนวโน้ม ถูกโหวตตีตกมีสูงยิ่ง

เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลเกรงว่า หาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 250 คน ตามร่างฝ่ายค้าน จะยื่นมือเข้าไปกำกับไม่ได้

ญัตติ แก้ไขรายมาตราอื่นๆ ของฝ่ายค้าน อาทิ มาตรา 72 ตัดทิ้งอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ญัตติแก้ไขระบบเลือกตั้ง-บัตรเลือกตั้ง

Advertisement

มีแนวโน้มไม่ได้ไปต่อ โดนเทเช่นกัน

อาจด้วยเหตุผล เมื่อแก้มาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ร่างใหม่ จะแก้มาตราไหนก็ได้อยู่แล้ว (ยกเว้นหมวด ที่บัญญัติไว้ห้ามแก้ไข)

ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นอันใด ต้องรับญัตติ แก้ไขรายมาตราอีก

แต่ที่จริง ในความไม่แน่ ไม่นอน ของการแก้ไข มาตรา 256 ที่มีความเห็นต่าง

มีฝ่ายระบุว่าดำเนินการได้ กับฝ่ายที่เห็นว่าขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นที่มี ส.ว.และ ส.ส.พลังประชารัฐ ยื่นญัตติ ขอสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หลายฝ่ายเริ่มเห็นถึงความจำเป็น ที่สมควรต้องโหวตรับร่างแก้ไขรายมาตราด้วย

เพื่อจะได้เป็นหลักประกันว่า การแก้ครั้งนี้ไม่สูญเปล่า

เนื่องจาก ไม่วันหนึ่งก็วันใด จะมีเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการแก้มาตรา 256 แน่นอน

วันข้างหน้า หากศาลวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขมาตรา 256 ตกไป เท่ากับว่า ไม่มีการรื้อ ทบทวนเนื้อหามาตราใดๆ ทั้งสิ้น

หากจะแก้รายมาตรา ต้องกลับมานับ 1 ใหม่

แต่หากสภารับหลักการ และแก้ไขรายมาตรา ว่าด้วยการริบอำนาจ ส.ว. และบัตรเลือกตั้งด้วย แม้ว่า ในท้ายที่สุด การแก้มาตรา 256 จะขัดรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่กระทบ การแก้ไข รายมาตรา 2 ประเด็นที่ว่า โดยเฉพาะการตัดอำนาจ ส.ว.

เมื่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้ สามารถใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งให้จบได้ในระดับหนึ่ง

หากจะใช้การยุบสภา เป็นทางออกแก้ปัญหา โดยกติกาที่ได้รับการแก้ไข ประชาชนยอมรับ

เนื่องจากให้ความสำคัญกับจำนวนเสียง ส.ส. ตัวแทนประชาชน

ต่างจากเดิมที่ให้น้ำหนักการรวบรวมเสียง ส.ส. และ 250 ส.ว.แต่งตั้งในรัฐสภา ในการเลือกนายกฯ เลือกรัฐบาล

การแก้ไขรายมาตราที่ว่า จึงจำเป็น

ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

หากจะมีคำถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การแก้มาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.นั้นทำได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จะไม่เป็นการซ้ำซ้อนหรือ

เพราะเมื่อปลดล็อก 256 ได้ อย่างไรเสียก็ต้องแก้ 2 เรื่องนี้อยู่ดี

จะพูดอย่างนั้นก็ได้

แต่การแก้ไข ตัดอำนาจ ส.ว. รื้อบัตรเลือกตั้ง ก็มิได้เป็นเรื่องเสียหาย

มิหนำซ้ำ ยังทำได้รวดเร็วกว่า รอแก้รวดเดียวพร้อมกันทั้งฉบับ

และเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ก็นำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้

สมมุติว่า ต้องยุบสภา

การยุบสภา ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขตามแนวทาง ม.256 หากมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินการร่างไปตามปกติ ต่อไปได้

จึงไม่มีข้อเสียหายอันใดเลย

หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตัดอำนาจ ส.ว.ไปด้วยในครั้งนี้

ถ้าจะมีก็คือ อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลโดยตรง

การแก้ตามแนวทางมาตรา 256 นั้นใช้เวลานาน รัฐบาลสามารถอ้างมาเป็นเหตุอยู่ในตำแหน่งต่อ เพื่อทำภารกิจหลัก ให้ลุล่วง ประสบผล

จับเรื่อง ยุบสภาเป็นตัวประกัน

เลือกตั้งใหม่ก็เท่านั้น เปลี่ยนผู้บริหารประเทศไม่ได้ กติกาเก่าล็อกผลตั้งรัฐบาล

ในทางกลับกัน แก้รายมาตราทำได้ในเวลารวดเร็ว

แก้จบ รัฐบาลอาจเกมตาม เสียงเรียกร้องยุบสภาอาจกระหึ่มดัง

ด้วยเหตุนี้กระมัง ถึงไม่ยอมแก้รายมาตรา

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image