ด่านเบิ้ม-แก้รัฐธรรมนูญ

รัฐสภามีมติรับหลักการ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

ปลดล็อกมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่

ด่านแรกผ่านไป แต่เส้นทาง กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังอีกยาวไกล ต้องฝ่าการตรวจสอบ ทั้งแง่มุมกฎหมาย การต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย

ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

Advertisement

ทั้งนี้หากดูจากการ อภิปราย ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.

เสียงสำคัญ ชี้เป็นชี้ตาย ในรัฐสภา

เรื่อยมาตั้งแต่ปลายกันยายน ครั้งแรกญัตติแก้ไขเข้าสภา ตามมาด้วยการเตะถ่วง ยื้อโหวต ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา 6 ร่าง กระทั่งการอภิปรายครั้งล่าสุด ก่อนลงมติรับหลักการ 2 ร่าง

Advertisement

จะเห็นสัญญาณบางประการ

สื่อว่า เส้นทาง แก้ไขต่อจากนี้ไม่น่าราบรื่นเท่าใดนัก

เพราะข้อที่อภิปรายมานั้น สะท้อนว่า ลึกๆ แล้ว ผู้ที่โหวตรับร่าง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข

แต่อาจ มีความจำเป็นทางการเมืองบางประการ

โดยเฉพาะต้องการ ลดแรงกดดัน ม็อบชุมนุมเรียกร้อง

จึงจำใจ ลงมติเห็นชอบ ร่างแก้ไข 2 ฉบับ

ไม่เพียงแต่เรื่องเสียงโหวตเท่านั้น ที่ชี้ชะตา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ ลุล่วงหรือไม่

หากยังมีเรื่องของการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบความถูกต้อง ขอให้วินิจฉัย อำนาจรัฐสภา ที่ว่าด้วย การตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำได้หรือไม่ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะนี้ญัตติของ 84 ส.ว./ส.ส.รัฐบาลรอบรรจุเป็นวาระสภา

ให้สมาชิกโหวตลงมติ ตัดสิน สมควรส่งศาลหรือไม่

เมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงศาล ก็ย่อมต้องได้-เสีย

กล่าวคือ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ก็ต้องออกตรงข้าม

โมฆะแก้ไม่ได้

นี่ยังไม่นับรวม ถึงกระบวนการทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย เรื่องรับ และไม่รับ

ที่จริงเรื่องนี้ ไม่ควรเป็นประเด็นแม้แต่น้อย

แต่ภาพจำ การทำประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัย ในผลการรับ

กระทั่งตามมาหลอกหลอน เกิดเป็นคำถาม

การทำประชามติครั้งนี้ จะมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมามากน้อยเพียงใด

โดยสรุปแล้ว การแก้ไขไม่ง่ายเลย

ดีไซน์ให้เนื้อหาออกมาดี ได้รับการยอมรับ มิใช่สักแต่ว่าได้แก้แล้ว ก็ยิ่งยากใหญ่

ช็อตนับต่อจากนี้ จึงยังคงมีความไม่แน่ไม่นอนสูง

เนื่องจากต้องผ่านด่านอีกหลายด่าน

ทั้งใน และนอกสภา แต่ละด่านล้วนแต่ เบิ้มๆ ทั้งนั้น

อดีตเมื่อไม่ช้า ไม่นานมานี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. มิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการล้มล้างการปกครอง การตัดสินเมื่อปลายปี 2556 ก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว

แม้จะเป็นคนละฉบับ คนละเนื้อหาก็ตาม

ในสภาก็มีเรื่องให้ฮือฮาในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้วเช่นกัน

สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช.ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อปี 2558

เหล่านี้คือ ลายแทงวิบากกรรมรัฐธรรมนูญ

การแก้ การร่างทุกครั้งไม่ง่าย

ครั้งนี้อาจยิ่งยากกว่าเป็นเท่าทวีคูณ

รัฐธรรมนูญเป็นกล่องดวงใจ ป้อมปราการสุดท้ายของการต่อสู้รักษาอำนาจ

 

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image