สถานีคิดเลขที่12 : บทเรียนที่ยังใช้ได้

กระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่จริงเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบ ควรจะเอาไปนั่งขบคิดแบบใจเย็นๆ

หาต้นตอที่มา แล้วคิดหาทางแก้ไข ดีกว่าไปคิดว่าเป็นการสร้างเรื่องดิสเครดิตรัฐบาล

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่การปกครองมีปัญหา

อย่างพม่า วิกฤตที่เรียกว่า 8888 เมื่อ พ.ศ. 2531 หรือ ค.ศ. 1988 มีนักศึกษา ประชาชนพม่าหนีภัยจากประเทศตัวเองทะลักเข้าไทยมากมาย

Advertisement

คราวนี้ หลังจากประท้วงด้วยมือเปล่า และถูกกองกำลังฝ่ายรัฐประหารปราบปราม บาดเจ็บล้มตายมากมาย

มีข่าวนักศึกษาประชาชนพม่าจับปืน เข้าสู้รบร่วมกับกองกำลังของชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ

เป็นหนทางที่ประชาชนในแต่ละประเทศจะเลือก ตามความเหมาะสมและจำเป็นของสถานการณ์

Advertisement

ส่วนในประเทศไทยเราเอง ในอดีต สมัยเผด็จการเข้มๆ โดยเฉพาะหลัง 2500 ไปจนถึง 2516 อันเป็นปีที่เกิด 14 ตุลาฯ กับอีกครั้ง หลัง 6 ตุลาฯ 2519

เกิดการลี้ภัย โยกย้ายไปอยู่ต่างประเทศ บ้างก็เข้าป่าไปร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ

หลายรายกลายเป็นตำนาน อย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ปัญญาชนไทยที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และถูกสังหาร ที่ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ในปี 2509

จิตร ภูมิศักดิ์ เกิด 2473 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ อายุจะเกิน 90 ปี เรื่องราวของจิตรมีให้อ่านให้ค้นคว้ามากมาย

ด้วยความคิดที่ปราดเปรื่อง ล้ำยุค ทำให้ต้องเผชิญการคุกคาม ตั้งแต่เรียนอักษรฯ จุฬาฯ พอเรียนจบ ไปสอนหนังสือ ทำหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ บทกวี เสนอแนวคิดและมุมมองที่แตกต่าง

ก็กลายเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในยุคเผด็จการ ถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ในปี 2501

ติดคุกยาวนานถึง 6 ปีเศษ พ้นคุกในปี 2507 ตัดสินใจเข้าป่าภาคอีสานในปี 2508 ก่อนจะตกอยู่ในยุทธการล้อมปราบของทางการ จนเสียชีวิตดังกล่าว

นอกจากจิตรแล้ว สังคมเราได้สูญเสียประชาชนพลเมืองที่ิมีความรู้ความสามารถแต่คิดไม่เหมือนรัฐอีกมาก ในลักษณะต่างๆ

แต่ก่อนจะไปไกลและเสียหายมากกว่านั้น โชคดีที่รัฐไทยพบ “ทางออก”

หลัง 6 ตุลาฯ 2519 นักศึกษาประชาชนหลั่งไหลเข้าป่า ทำให้กองกำลังในป่าเข้มแข็งมาก แรกๆ รัฐบาลระดมปราบ ก่อนจะพบว่ายิ่งปราบยิ่งบาน

จึงหันมาแก้ที่เงื่อนไขของการเข้าป่า คือ การเมือง ความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตยเปิดช่องทางให้คนที่เข้าป่า ได้คืนเมือง กลับมาเรียน มาทำมาหากิน ใช้ชีวิตปกติ

นั่นคือคำสั่งสำนักนายกฯ 66/2523 ลงนามโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

ทำให้สงครามการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเองยุติลงไป

สถานการณ์ของปี 2523 กับปี 2564 อาจไม่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่บทเรียนบางอย่างนำมาปรับใช้ได้

การคิดต่าง เห็นต่าง ไม่ควรลงเอยด้วยการรบราฆ่าฟัน หรือไม่อยู่ร่วมประเทศ

แต่ควรแก้ที่เหตุ ที่เงื่อนไขอันทำให้เกิดปัญหา จะเป็นอารยะมากกว่า

ทางออก ทางแก้มีอยู่ ถ้าไม่แก้อย่างถูกต้อง ปัญหาจะลุกลามไปอีกมากอย่างคาดไม่ถึง

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image