สถานีคิดเลขที่ 12 : 7 ปีที่สูญเปล่า?

สถานีคิดเลขที่ 12 : 7 ปีที่สูญเปล่า?

7 ปีที่สูญเปล่า?

หลายคนนิยามเอาไว้ในวาระครบรอบ 7 ปี “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ว่านี่คือห้วงเวลา “7 ปีที่สูญเปล่า”

หรือหากจะเชื่อมโยงรัฐประหารครั้งนั้น ว่าเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สืบเนื่องมาจาก “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2553

เราก็สามารถกล่าวได้ว่านี่คือช่วงเวลา “เกินกว่าทศวรรษ” ที่ให้ “โทษ” ต่อสังคมไทย มากกว่า “คุณ”

Advertisement

เมื่อมองในภาพใหญ่หรือหลักการใหญ่ ตลอดเวลา 7-14 ปีที่ผ่านมา ระบอบ “ประชาธิปไตย” และ “หลักการเสียงส่วนใหญ่” ในประเทศของเรา ได้ถูกทำลาย-ละเมิด-บิดเบือนมาหลายต่อหลายครั้ง

จนนำมาสู่สภาพการณ์ในปัจจุบัน ที่บ้านเมืองคล้ายจะปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” แต่ก็ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” เหมือนจะมี “รัฐธรรมนูญ” แต่ไปๆ มาๆ ก็เป็นเพียง “เครื่องมือทางการเมือง” ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียว

ประชาชนจำนวนมากพากันตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงก้องดังขึ้นตามลำดับ ว่าประเทศนี้
มี “ความเป็นธรรม” หรือ “ความยุติธรรม” ดำรงอยู่จริงหรือไม่?

Advertisement

กระทั่งองค์กร-สถาบันใน “กระบวนการยุติธรรม” ทุกภาคส่วน ต้องสูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือไปอย่างมากมายมหาศาล

“ความขัดแย้งทางอุดมการณ์” ที่สามารถตีตราคู่ขัดแย้งเป็น “คนอื่น” หรือ “ศัตรู” ได้ง่ายๆ ค่อยๆ แผ่ขยายกลายเปลี่ยนเป็น “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” ที่ซึมลึกลงสู่พื้นที่ครอบครัวอย่างสลับซับซ้อน

โดยต้องคำนึงว่า ระหว่างรายทางดังกล่าว มีผู้คนบริสุทธิ์ต้องสูญเสียอิสรภาพและชีวิตของตนเองไปเป็นจำนวนไม่น้อย

หากพิจารณาเฉพาะในแง่ “การเมือง”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบบการเมือง-ระบบการเรียนรู้แบบ “ประชาธิปไตย” ของไทย ได้ถูกกร่อนเซาะจนล้มเหลวรวนเร

แม้อาจมี “นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหน้าใหม่” ถือกำเนิดขึ้นมามากพอสมควร แต่ “บุคลากรน้ำดี” จำนวนหนึ่งก็ถูกกีดกันออกจากสนามดังกล่าว รวมทั้งมีกลไกที่บีบให้นักการเมืองกลุ่มใหญ่ต้องสยบยอมต่อ “อำนาจนอกระบบ” อย่างน่าละอาย

ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนจากความล้มเหลวด้านนี้ คือ การมีรัฐบาลที่ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการทำงาน การมีรัฐบาลที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาด “โควิด-19”

หรือหากพิจารณาไปที่ภาคเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับว่าได้เกิดปรากฏการณ์แห่ง “ความเหลื่อมล้ำ” เมื่อความมั่งมี ทรัพย์สินก้อนใหญ่ และผลบวกในเชิงตัวเลขสถิติ ได้หลั่งไหลเข้าสู่กระเป๋าของมหาเศรษฐี-ชนชั้นนำจำนวนน้อยของสังคม

โดยไม่เผื่อแผ่ไปถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง แรงงานที่หาเช้ากินค่ำ ตลอดจนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป

ท่ามกลาง “ความหมดหวัง” และ “ผลเสียนานัปการ” ถ้าถามว่า “ห้วงเวลาสูญเปล่า” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ก่อกำเนิด “ความหวัง” และ “คุณประโยชน์” บางประการให้แก่สังคมไทยบ้างหรือไม่?

คำตอบอาจมีอยู่สองประการ

ประการแรก คือ เราได้เป็นประจักษ์พยานในปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งมี “ฉันทามติทางการเมือง” ของพวกเขาเอง

รอแต่เพียงว่าท้ายสุดแล้ว คนกลุ่มนี้จะเข้ามา “แทนที่” ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ด้วยวิธีการแบบใด? ในโอกาส-บริบทแบบไหน? (และจะถูกขัดขวางไปจนถึงเมื่อไหร่?)

ประการที่สอง คือ เราได้มองเห็น “ปัญหา-จุดอ่อน” ของ “คนรุ่นเก่า-ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย” ที่ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาหวงแหนอำนาจ-ผลประโยชน์ของตนอย่างถลำลึกมากขึ้น

ความขัดแย้งในยุคหลังห้วงเวลา “7 ปีอันไร้ค่า” และ/หรือ “ทศวรรษอันสาบสูญ” จึงจะเป็นการต่อสู้ที่แหลมคม ไม่คลุมเครือ และไม่มีฝ่ายไหน/กลุ่มใด ฉวยโอกาส-ตีเนียนได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image