สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐล้มเหลว?

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐล้มเหลว?

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐล้มเหลว?

หลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการต่อสู้-แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งดำเนินไปทั้งในและนอกระบบ
สภาวะ “รัฐล้มเหลว” เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่หลายหน

“รัฐล้มเหลว” ที่ว่า หมายถึงสภาพที่รัฐบาล ซึ่งนำโดยพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนสูงสุดจากประชาชน ถูกลิดรอนอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งจากม็อบที่เข้าขัดขวางการปฏิบัติงาน ผ่านรูปธรรม เช่น การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล หรือกระทรวงต่างๆ

Advertisement

ขณะเดียวกัน หน่วยงานราชการจำนวนไม่น้อยก็เข้าเกียร์ว่าง และไม่แสดงจุดยืนในการปกปักพิทักษ์รัฐบาล

ท่ามกลางภาวะ “สุญญากาศทางอำนาจ” ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง-ความสูญเสียแก่ชีวิต-ทรัพย์สิน ขึ้นตามรายทาง โดยที่หลายกรณี ไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือหาผู้รับผิดชอบไม่ได้

พูดให้ชัดขึ้น คือ เมื่อรัฐดำรงอยู่โดยเสมือนไร้รัฐบาล เมื่อองคาพยพส่วนต่างๆ ของรัฐ ขับเคลื่อนไปอย่างไม่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “รัฐที่ล้มเหลว” จึงขาดความสามารถในการปกป้องชีวิตพลเมืองของตัวเอง

Advertisement

วิกฤตค่อยๆ กัดกิน จนรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งตกอยู่ในอาการง่อยเปลี้ยและต้องถอยสุดทาง แต่แทนที่จะมีการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

อาการพิกลพิการดังกล่าวกลับมักได้รับการเยียวยาด้วยการ “รัฐประหารแบบชัดๆ” หรือ “รัฐประหารซ่อนรูป” อันนำไปสู่การย้ายขั้วและเปลี่ยนแกนนำรัฐบาล

นี่คือรูปแบบ-นิยามของ “รัฐล้มเหลว” ที่พวกเราคุ้นชิน ในห้วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนในปัจจุบัน เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ใน “รัฐล้มเหลว” อีกประเภท ที่มีลักษณะรายละเอียดแตกต่างออกไป

กล่าวคือฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลนั้น มิใช่มวลชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มิใช่กองกำลังที่สามารถก่อความรุนแรงได้ มิใช่กลุ่มทุนที่มั่งคั่ง มิใช่อำนาจนอกระบบที่ไหน แต่เป็นสถานการณ์
“โควิด-19”

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลชุดนี้มีอำนาจเต็มมือ (ด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”)

ยิ่งในส่วนการแก้ปัญหาโควิด อำนาจต่างๆ ได้ถูกรวบเข้ามาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่สำคัญ หน่วยงานราชการส่วนต่างๆ ก็ไม่ได้ปลีกตัวถอยห่าง หรือแข็งขืนต่ออำนาจของรัฐบาล

แม้นักการเมืองจำนวนน้อยในพรรคร่วมรัฐบาลอาจแสดงอาการฮึดฮัดออกมาบ้าง แต่สาธารณชนส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปหรือไม่

นักการเมืองเหล่านั้น และพรรคการเมืองต้นสังกัดของพวกเขาก็คงยากที่จะถอนตัวออกจากรัฐบาล

น่าแปลกที่แม้รัฐบาลชุดนี้จะ “ไม่บกพร่องอำนาจ” แต่กลับทำงานในสภาวะโรคระบาดได้ไม่เป็นกระบวน สื่อสารกับประชาชนอย่างล้มเหลว-สับสน และมีเหตุปัจจัยใหม่ๆ ให้ “ลิงต้องไล่แก้แห” แทบทุกวัน

ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในอัตราสูงจนน่าเป็นห่วง

แม้ปรากฏการณ์ที่ “หน่วยงานรัฐ” ซึ่งมีอิสระในการดำเนินงานพอสมควร ขยับเข้ามาช่วยสร้างความเป็นไปได้ในการเข้าถึง “วัคซีนทางเลือก” อาจกระตุ้นให้สังคมไทยสามารถเผชิญหน้ากับโควิดได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง นี่ยิ่งทำให้ประชาชนมีสิทธิชอบธรรมที่จะตั้งคำถามถึงรัฐบาล ซึ่งครอบครองอำนาจเต็มมือ ว่าที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจทำอะไรอยู่? (พวก) ท่านมีความรู้ความสามารถแค่ไหน? และทำไมจึงจัดหา “วัคซีนอื่นๆ” เข้ามาได้อย่างเชื่องช้า?

ยิ่ง “วัคซีนทางเลือก” สร้างความหวังให้ผู้คนมากขึ้นเท่าใด

ยิ่งหน่วยงานภาครัฐบางส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีทางเลือกสำหรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยไม่หวังพึ่งพิง “วัคซีนหลัก” ของรัฐบาล

ยิ่งประชาชนจำนวนมากมายมหาศาล ยังเข้าถึงได้แค่ “วัคซีนหลัก” สองยี่ห้อ (หรืออาจจะยี่ห้อเดียว) ในภาวะที่มี “ตัวเลือกอื่น” เพิ่มเข้ามา

รัฐบาลก็จะยิ่งตกอยู่ในสภาพว่างเปล่าปราศจากตัวตน เหมือนมีอำนาจ แต่ไม่มีบทบาท ท่ามกลางวิกฤตการณ์ใหญ่ของประเทศ และกลายเป็น “เครื่องมือผลิตคำด่า” เข้าปากสาธารณชนไปวันๆ

นี่คือ “รัฐล้มเหลว” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ใช่หรือไม่?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image