ที่มากกว่า‘เฟคนิวส์’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ซึ่งมุ่งควบคุม-จัดการ “ข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และ “ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน” หรือที่เรียกขานรวมๆ ได้ว่า “เฟคนิวส์” นั้น

ดูจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาสองข้อใหญ่ๆ

ข้อแรก คือ การนำไปสู่คำถาม-ข้อถกเถียงว่านี่ถือเป็นการปิดกั้นขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?

เมื่อพิจารณาว่า การนิยามว่าสิ่งใด คือ “ข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” หรือ “ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน” นั้นเป็นการมอบอำนาจในการตีความให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างค่อนข้างกว้างขวาง โดยยังไม่นับถึงอำนาจในการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งนำไปสู่เครื่องหมายคำถามมากมายไม่แพ้กัน

Advertisement

ความคลางแคลงใจส่วนนี้ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาในเชิงปฏิบัติต่อไปในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักก็คือ แม้ “ข้อกำหนดในการต่อต้านเฟคนิวส์” อาจจะสามารถควบคุม “ข้อมูลข่าวสาร” บางอย่างได้ แต่อีกด้านหนึ่ง อำนาจดังกล่าวคงไม่สามารถปกปิด “ข้อเท็จจริงทางสังคม” บางประการได้โดยมิดชิด

ยกตัวอย่างเช่น การที่ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการการเมืองบางคนออกมาโยนคำถามสู่สังคม (ก่อนจะโดน “ปาก้อนอิฐ” กลับคืนไป) ว่า “ภาพคนนอนเสียชีวิตข้างถนน” ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ คือการจัดฉากเข้าข่าย
เฟคนิวส์หรือเปล่า?

Advertisement

นั้นไม่สามารถบิดพลิ้วและปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ณ ขณะนี้ มีคนไทยเสียชีวิตเพราะการติดเชื้อโควิดไปแล้วร่วมๆ ห้าพันคน ได้โดยสิ้นเชิง!

หมายความว่าอำนาจรัฐไม่มีศักยภาพในการปกปิดเก็บงำจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด ซึ่งมีความสัมพันธ์โยงใยไปถึงคนรัก-ครอบครัวอีกมากมายหลายหมื่นแสนชีวิต

อำนาจรัฐไม่มีศักยภาพในการปิดกั้นความรู้สึกเศร้าโศกสูญเสียของประชาชน ที่อยู่ข้างหลังมนุษย์หลายพันราย ซึ่งต้องอำลาจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควร โดยแทบไม่ทันได้ตั้งตัว

อำนาจรัฐไม่มีศักยภาพมากพอในการปิดบังสภาวะพังพินาศทางเศรษฐกิจ, สภาพความมั่นคงของมนุษย์ที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ตลอดจนความสงสัย-ไม่พอใจต่อการบริหารจัดการวัคซีนและระบบสาธารณสุขของประเทศนี้

โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า “อำนาจรัฐ” และ “ข้อกฎหมาย” นั้นคงสามารถใช้กำหนดควบคุม “ข้อมูลข่าวสาร” บางส่วนได้ แต่ไม่สามารถใช้บังคับควบคุมความคิดจิตใจ-อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์/ประชาชน/พลเมืองได้

นี่แหละคือปัญหาใหญ่ลำดับที่สองของ “ข้อกำหนด” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่งประกาศออกสู่สาธารณะ

เมื่อกฎหมายหยั่งลึกลงไปไม่ถึงหัวจิตหัวใจของผู้คน ที่กำลังเดือดเนื้อร้อนใจกับชีวิตอันปราศจากความมั่นคงในรัฐแห่งหนึ่ง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมาบ้าง?

ตัวอย่างคำตอบของคำถามข้อนี้ ก็คงมี อาทิ

ปรากฏการณ์ “คอลเอาต์” ของดารานักแสดงศิลปินจำนวนมาก

ความป๊อปปูลาร์ของ “โทนี่ วู้ดซัม” บารมีที่เพิ่มขึ้นของนักการเมืองรุ่นใหม่ เช่น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ความเชื่อมั่นอย่างสูงในสื่อมวลชนชื่อ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” การหวังพึ่งพิงแสวงหาความช่วยเหลือจากเครือข่ายอาสาสมัครที่เป็นประชาชนด้วยกันเอง เช่น “กลุ่มเส้นด้าย”

ทั้งหมดนี้ดำรงอยู่คู่ขนานไปกับความรู้สึกว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “รัฐบาล” กำลัง “ล้มเหลว” ในการปฏิบัติหน้าที่

อาการเหลืออดของผู้คนในสังคมยังอาจถูกระบายกลายเป็น “เครื่องด่า” ที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังในโซเชียลมีเดีย และ “คาร์ม็อบ” รวมถึงม็อบอื่นๆ ที่เริ่มไม่เกรงกลัวเชื้อโรค บนท้องถนน

“ข้อกำหนดต่อต้านเฟคนิวส์” จึงเป็นการพยายามควบคุมจัดการ “ข้อมูลข่าวสาร” บางด้าน ที่จะยิ่งเผยให้เห็น “ปัญหา” อีกหลายด้าน

เป็นการฉายภาพให้เห็นรอยปริร้าว-จุดอ่อนนานัปการ มากกว่าจะเป็น “วัคซีน” เยียวยา “รัฐล้มเหลว” อย่าง “รัฐไทย”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image