สถานีคิดเลขที่ 12 : แรงปะทะ โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : แรงปะทะ โดย นฤตย์ เสกธีระ

ดูเหมือนคำหวาน “รักไปจนวันตาย” จะไม่ขลังเสียแล้ว

เพราะคำพูดของ 3 ป.แตกต่างจากการกระทำ

เป็นการกระทำที่ชวนให้สงสัย

สงสัยว่าการตรวจเยี่ยมน้ำท่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการตรวจเยี่ยมน้ำท่วมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห้วหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นสมรภูมิย่อย

Advertisement

สมรภูมิทางการเมือง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่วันเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ส.ส.แห่ไปให้กำลังใจบิ๊กป้อมมากกว่าบิ๊กตู่

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนสถานที่ตรวจท่วมจากนครราชสีมาไปที่ชัยภูมิ

Advertisement

รุ่งขึ้น กำหนดการ พล.อ.ประวิตรตรวจท่วมที่นครราชสีมาก็อุบัติขึ้น

เพียงแต่ครั้งนี้หลบหลีกมิให้วันเวลาตรงกัน

ต่อมา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร จากพรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดตัวพรรคลุงฉิ่งให้

บ่งบอกว่าทางรอดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือพรรคใหม่

และพรรคใหม่ที่ว่าก็มีพรรคลุงฉิ่งนี่แหละ

การเปิดตัวพรรคใหม่ให้บิ๊กตู่ตอกย้ำความแตกร้าวของ 3 ป.

บอกว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐเมิน พรรคใหม่ก็พร้อมสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ประเด็นขย่ำบิ๊กตู่อีกประเด็นก็ปะทุขึ้นมาในช่วงนี้

นั่นคือ ข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัตินายกฯ มาตรา 158 วรรคสี่ รัฐธรรมนูญปี 2560

ระบุว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้

นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย มองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯตั้งแต่สิงหาคม ปี 2557

ดังนั้น ปีหน้าก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มองว่า ขณะที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ดังนั้น ต้องเริ่มนับอายุนายกฯตั้งแต่ปี 2560

หมายความว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้งก็อยู่ไม่ครบเทอม

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการนิติศาสตร์อย่าง นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย มองว่า ถ้าจะว่าไปตามกฎหมายควรเริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี 2562

แต่ถ้าจะว่าไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายกฯไม่ควรอยู่ในตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี

ปัญหาตอนนี้คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุอะไรไว้แน่ชัดว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯมาก่อนนั้นจะให้นับอย่างไร

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เพิ่มความเสี่ยงให้ พล.อ.ประยุทธ์บนเก้าอี้นายกฯ

เพราะความแตกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐ ก็สุ่มเสี่ยงต่อเสียงในสภา

เมื่อใดที่รัฐบาลเสนอกฎหมายที่ต้องผ่านสภา หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องออก

เมื่อนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในภาวะเสี่ยง

เป็นความเสี่ยงจากสภา

และเมื่อบังเกิดประเด็นมาตรา 158 วรรคสี่ ขึ้นมา

หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่านายกฯจะมีความเสี่ยงเพิ่ม

เป็นความเสี่ยงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นความเสี่ยงในกระแสข่าวความขัดแย้งที่ยังประนีประนอมไม่ได้

เป็นกระแสที่กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็สวมหัวใจนักสู้

ชูกำปั้นแล้วนำมาตบที่อก ประกาศ “ขอให้เชื่อมั่นในตัวผม”

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์การปะทะใน 3 ป.

เป็นแรงปะทะของคนที่รักกัน

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image