สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องปกติ โดย ปราบต์ บุนปาน

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องปกติ

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องปกติ โดย ปราบต์ บุนปาน

ความเป็นไปภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจถือเป็นเรื่องน่าเซอร์ไพรส์ น่าแปลกประหลาดใจ หรืออาจถูกพิจารณาเป็นเรื่องย้อนแย้ง ผิดที่ผิดทาง ก็ได้

แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติในทางการเมือง ไปพร้อมๆ กัน

ถ้าใครเชื่อว่า ณ พ.ศ.2564 กลุ่มอำนาจ “3 ป.” ยังมีความเป็นปึกแผ่น ทหารยังมีอำนาจสิทธิขาดเหนือฝ่ายการเมือง ประเทศไทยยังถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศรัฐประหาร

หรือพูดง่ายๆ ว่าพลังขับเคลื่อนทางการเมืองไทยยังดำเนินผ่านสายบังคับบัญชาจากบนลงล่างแบบกองทัพ ที่พลเอกสั่งอะไร ร้อยเอกก็ต้องปฏิบัติตาม

Advertisement

อีกทั้งไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด ไม่มีรัฐบาลที่ไร้ผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแรงต่อต้านใดๆ จากเยาวชนคนรุ่นใหม่

พวกเขาเหล่านั้นก็ย่อมต้องแปลกใจว่าทำไม “แมวเก้าชีวิต” เช่น “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” จึงยังสามารถครอบครองเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

แม้จะมีสายสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับนายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร-อดีต ผบ.ทบ. แม้จะถูกปลดพ้นคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แม้จะโดนรุมสกรัมจากรัฐมนตรีร่วมพรรคหลายราย ที่ถูกเชื่อว่าเป็นสายตรงของผู้นำรัฐบาล

Advertisement

แต่หากพินิจพิเคราะห์ว่าสังคมการเมืองไทยอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบรัฐประหารและกึ่งรัฐประหารมาเกือบจะ 8 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมที่สั่งสมเป็นดินพอกหางหมู

ทุกฝ่ายก็ย่อมเข้าใจได้ตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องเลือกพึ่งพาอาศัย “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงประชาชน มากกว่า “ขุนศึก”

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ จะยังสนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส

นี่คือวิถีการเมืองและวิถีประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะไม่เต็มใบ ทั้งยังดูเป็น “การเมืองการมุ้ง” แบบก่อนยุค 2540

ทว่าก็เหลือช่องว่างให้ “วิถีทหาร” น้อยลงเต็มที

การเปิดตัว แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย อาจถูกตีความในแง่ลบ

เช่น สุดท้ายแล้วพรรคการเมืองพรรคนี้ก็เป็นสมบัติของตระกูลใดตระกูลหนึ่งมากกว่าจะเป็นสถาบันการเมือง

หรือพรรคเพื่อไทยคล้ายกำลังเปิดที่ทางให้ “คนหน้าใหม่” ผ่านวิธีการ (สืบอำนาจผ่านสายเลือด) ซึ่งย้อนแย้งกับค่านิยมหลักของ “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังกระตือรือร้นทางการเมือง

แต่การมีตำแหน่งแห่งที่ในพรรคเพื่อไทยของแพทองธารก็ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก อย่างไรเสีย การเมืองไทย โดยเฉพาะเพื่อไทย ก็ไม่อาจ “ก้าวข้ามทักษิณ” ไปได้ง่ายๆ

ประเมินทั้งจากสภาพการณ์ปัจจุบันที่ “เสียงทักษิณ” ยังดังอยู่ และถูกรับฟังผ่านโซเชียล
มีเดียต่างๆ ตลอดจนการยากจะปฏิเสธได้ว่าความนิยมหรือการยึดติดในตัวบุคคล ยังคงเป็นปัจจัยชี้ขาดหนึ่ง สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองแบบไทยๆ

ประการต่อมา แม้ “ฝ่ายประชาธิปไตยร่วมสมัย” จะมีความหลากหลายหรือมีหลายเฉด โดยถูกประเมินว่าสู้มาก-สู้น้อยแตกต่างกันไป

ณ พ.ศ.2564 “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร-เพื่อไทย” อาจถูกมองว่าสู้น้อยหน่อย ประนีประนอมมากหน่อย

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปตอนปี 2552-54 “ขั้วทักษิณ” ก็เคยเป็นตัวแทน/หลักยึดหนึ่งเดียวของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มาก่อน รวมถึงยังกลายเป็น “เหยื่อตัวใหญ่” ของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยร่วมทศวรรษ

ดังนั้น การเปิดตัวแพทองธารในฐานะ “ผู้สืบทอดมรดกการต่อสู้” บางอย่าง จึงนับเป็นเรื่องปกติ

ท้ายสุด สถานะอันมั่นคงของ ร.อ.ธรรมนัส และสภาวะพุ่งทะยานของแพทองธาร ต่างบ่งบอกว่าจุดชี้วัดอนาคตทางการเมืองไทยกำลังเคลื่อนย้ายไปยัง “สนามเลือกตั้ง”

อันเป็นสนามของ “นักการเมือง” ไม่ใช่ “กองทัพ-รัฐราชการ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image