สถานีคิดเลขที่ 12 : เข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : เข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ดูเหมือนหลายๆ พรรคการเมืองกำลัง “ต้อง” มุ่งความสนใจไปยังฐานคะแนนเสียงของ “คนรุ่นใหม่”

เอาเข้าจริง หากพิจารณาที่สัดส่วนประชากร “คนรุ่นใหม่” อาจมิได้เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนมากที่สุด

แต่พวกเขาและเธอกลับมีสถานะเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย เป็นคนกำหนดทิศทางการตลาด และเป็นกลุ่มคนที่มีพลังกระตือรือร้นในทางการเมือง

นอกจากประเด็นเรื่องอายุและการเติบโตมากับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่แล้ว สิ่งที่น่าตั้งคำถามเพิ่มเติมก็คือ มีอะไรอีกบ้างซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของ “คนรุ่นใหม”?

Advertisement

หรือประชากรเหล่านี้ยึดถือ “คุณค่า” อะไรร่วมกัน?

ลักษณะเด่นประการแรกของ “คนรุ่นใหม่” คือ พวกเขาและเธอมักรวมตัวกันผ่านวัฒนธรรม “แฟนคลับ-แฟนด้อม-ติ่ง” ในพื้นที่สื่อออนไลน์

ผลลัพธ์ของการรวมตัวข้างต้นอาจเป็นเรื่องราวน่ารักๆ ของ “คู่จิ้น” หรือ “คู่รักในจินตนาการ” ของเหล่าด้อม

Advertisement

พร้อมๆ กันนั้น ก็อาจก่อตัวกลายเป็นกระแส “รักแรง” และ “ต้านแรง” จนยากจะคัดค้านทัดทาน ไม่ว่าด้วยเหตุผลหรืออำนาจใดๆ

คุณค่าลำดับถัดมา ที่ “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากคล้ายจะยึดถือร่วมกัน คือ การใส่ใจกับประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่ปรากฏผ่านมิติเศรษฐกิจ การเมือง จนกระทั่งถึงกระบวนการยุติธรรม

ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวกลายเป็นปราการกีดขวางที่ปิดกั้นทัศนวิสัยของ “คนรุ่นใหม่” กระทั่งมองไม่เห็น “อนาคตที่ดี” หรือ “อนาคตที่มีความหวัง” ของตนเอง

ขณะเดียวกัน พวกเขาและเธอก็พยายามส่งเสียงเรียกร้องให้ระบบระเบียบโครงสร้างต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในโลกร่วมสมัยอย่าง “ไม่สมเหตุสมผล” และ “ไม่ชอบธรรม” (จากมุมมองของคนรุ่น
หลัง) ได้รับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้มี “ความสมเหตุสมผล” และ “ความชอบธรรม” มากยิ่งขึ้น

นี่คือสิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาในการชุมนุมทางการเมืองและโครงการรณรงค์ต่างๆ ของ “คนรุ่นใหม่” ตลอดช่วงไม่กี่ปีหลัง

อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่พวกเขาและเธอได้เข้าไปสัมผัส ผ่านการมีประสบการณ์ตรงในฐานะ “เหยื่อของระบบ” มากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

คุณค่าอีกข้อหนึ่งที่ควรถูกพูดถึง ก็คือ “คนรุ่นใหม่” นั้นจริงจังกับแนวคิด “ความถูกต้องทางการเมือง” หรือพูดอีกอย่างได้ว่าพวกเขาและเธอมีปัญหากับทัศนคติเหยียดชาติพันธุ์ เพศสภาพ ชนชั้น รวมถึงรสนิยมทั้งหลาย

ด้านหนึ่ง การยึดหลัก “ความถูกต้องทางการเมือง” อย่างเคร่งครัด ก็มักสำแดงออกผ่านกระแสโซเชียล อันเร่าร้อนรุนแรง ของเหล่า “แฟนคลับ-แฟนด้อม”

อีกด้านหนึ่ง หาก “ความไม่ถูกต้องทางการเมือง” นั้นถูกประเมินว่ามีความยึดโยงข้องเกี่ยวกับกระบวนการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้คนอย่างไม่เป็นธรรม

“คนรุ่นใหม่” ก็พร้อมที่จะรณรงค์ให้มีการ “แคนเซิล” หรือ “ล้มเลิก” สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมดังกล่าว

ถามว่าคุณลักษณะหรือคุณค่าหลักๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือกันเฉพาะ “คนรุ่นใหม่ไทย” หรือไม่?

คำตอบคือไม่น่าจะใช่ และตรงกันข้าม ดูคล้าย “คนรุ่นใหม่” ในบ้านเรา อาจได้รับอิทธิพลทางความคิดหลายอย่างมาจาก “คนรุ่นใหม่ในโลกตะวันตก” ที่มีกระแส “เลี้ยวซ้าย” ตลอดจนอิทธิพลของ “วัฒนธรรมบันเทิงเกาหลี” ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงกับประเด็น “ความถูกต้องทางการเมือง”

ดังนั้น ใครที่ต้องการจะหาเสียง-ซื้อใจ “คนรุ่นใหม่” คงต้องเร่งทำความเข้าใจองค์ประกอบทางความคิดชุดนี้ให้ละเอียดลึกซึ้ง

และแน่นอนว่าการจะเข้าถึงประชากรกลุ่มนี้ได้โดยสมบูรณ์ ย่อมต้องดำเนินผ่าน “สามแพคเกจ” ข้างต้น จะเลือกใช้เฉพาะแพคเกจใดแพคเกจหนึ่งไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image