สถานีคิดเลขที่ 12 : ถอดถอนท้องถิ่น โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ถอดถอนท้องถิ่น โดย นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

เพิ่งได้เห็นร่างกฎหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 สมาคมไม่เห็นด้วย เพราะเปิดทางให้นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถอดถอนท้องถิ่นได้

ร่างกฎหมายดังกล่าวชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น”

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะใช้แทน พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542

ร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังพิจารณากำหนดให้มี “ผู้กำกับดูแล” คือ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้ดูแล อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง

Advertisement

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับดูแล เทศบาลนคร เมืองพัทยา อบจ. และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแล กรุงเทพมหานคร

มาตรา 6 กำหนดว่า การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนทำได้โดย 1 ขอให้ถอดถอน และ 2 ขอให้สอบสวนและถอดถอน

Advertisement

มาตรา 7 กำหนดข้อหาที่สามารถยื่นถอดถอนได้ เช่น จงใจละทิ้งการทำหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทุจริต มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือก่อความไม่สงบ

มาตรา 8 จำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอน คือ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง โดยยึดจำนวนที่น้อยกว่าเป็นหลัก

มาตรา 10 ให้ผู้กำกับดูแลปิดประกาศให้ทราบทั่วกัน เพื่อเปิดให้คัดค้าน และให้ผู้ยื่นถอดถอนขอถอนชื่อ ไม่น้อยกว่า 30 วัน ไม่เกิน 60 วัน

กรณีที่มีผู้เข้าชื่อถอดถอนครบตามเกณฑ์ ทั้งจำนวน และวันเวลา ผู้กำกับดูแลสามารถสั่งถอดถอนได้

กรณีที่ร้องให้สอบสวนเพื่อถอดถอน ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ผู้กำกับดูแลตั้งคณะกรรมการสอบสวน

มาตรา 17 เมื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผู้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนต้องหยุดการทำหน้าที่

มาตรา 18 ถ้าคณะกรรมการสอบสวนมีข้อสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง ให้ผู้กำกับดูแลสั่งถอดถอนผู้นั้นโดยพลัน

สรุปเนื้อความกันคร่าวๆ ก็เห็นแล้วว่า ทำไมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงไม่ยอม

หนึ่ง คือ อำนาจของผู้กำกับดูแลที่หมายถึงอำนาจของปลัดอำเภอ นายอำเภอผู้ว่าฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย

สอง คือ กระบวนการก่อนการตัดสินถอดถอนสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและผู้บริหาร

ข้อเสนอบางคนมองว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นรุนแรงถึงขั้นทุจริต ดังนั้น น่าจะผ่านการพิจารณาของศาล

น่าสนใจตรงที่เจตนาของการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

ไม่ทราบว่าร่างฉบับใหม่ขึ้นมาเพราะร่างฉบับเดิมใช้การไม่ได้ หรือเพราะต้องการอะไร

การยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหากฎหมายฉบับเดิม ไม่ควรกระทบต่อหลักการกระจายอำนาจ

เพราะการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดคู่แข่ง และรักษาพวกพ้องของตัวเองนั้นมีให้เห็นอยู่ในการเมืองระดับชาติ

การใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องเจตนาประชาธิปไตย ส่งผลให้การเมืองสนามใหญ่เป็นอย่างที่เห็น

ขณะที่การเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลายมากกว่า การพิจารณากฎหมายที่ส่งผลกระทบเชิงลบน่าจะรอบคอบถี่ถ้วน

เรื่องนี้เห็นทีจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

เรื่องที่เกี่ยวพันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระบวนการกระจายอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อยู่แล้ว

เพราะหากออกกฎหมายมา แล้วท้องถิ่นมองว่าส่วนกลางต้องการลิดรอน ส่วนกลางต้องการเพิ่มอำนาจให้รัฐราชการ

กฎหมายฉบับนี้ แทนที่จะเป็นคุณอาจกลายเป็นโทษ

อาจกลายเป็นรอยแผลที่เกิดขึ้นในหัวใจของคนท้องถิ่นไปเสียเปล่าๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image