สถานีคิดเลขที่ 12 : บอกแล้วต้องฟัง โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : บอกแล้วต้องฟัง ใครได้ฟังการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สถานีคิดเลขที่ 12 : บอกแล้วต้องฟัง โดย นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

ใครได้ฟังการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้วคงได้เห็นภาพความขัดแย้งทางความคิด

จำลองภาพความเห็นต่างจากเฟซบุ๊กของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเอาความเห็นของ ส.ว. กับคำชี้แจงของอาจารย์ปิยบุตรมาประกบกัน ทำให้รับรู้ความเห็นต่าง

ประเด็นที่มีการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ประกอบด้วย 1 รวมศูนย์ 2 บั่นทอน และ 4 ควบคุม

ประเด็น รวมศูนย์

Advertisement

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเห็นว่า ร่างแก้ไขฉบับนี้รวมศูนย์อำนาจที่สภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่ผู้ชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจ

ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

Advertisement

ประเด็น บั่นทอน

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยระบุว่ามีบั่นทอน 2 ประการ

ประการแรก บั่นทอนความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของศาล ประการที่สอง บั่นทอนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยศาล และองค์กรอิสระ

ผู้ชี้แจงมองว่า ประเด็นบั่นทอนแรก เกี่ยวพันกับการบัญญัติว่า ห้ามศาลใดๆ รับรองการรัฐประหาร ซึ่งผู้เสนออธิบายว่า ต้องการบัญญัติข้อความดังกล่าวเพื่อให้ศาลใช้อ้างอิงในการไม่รับรองรัฐประหารอีก

ในมุมมองของผู้ชี้แจงเห็นว่า การที่ศาลปกป้องประชาธิปไตย จะทำให้ศาลสูงเด่น

ส่วนการบั่นทอนที่สอง ที่ผู้ชี้แจงมองว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหมายถึงการห้ามศาลรัฐธรรมนูญขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ผู้ชี้แจงอธิบายว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ 2 อำนาจ

หนึ่ง คือ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กับอีกหนึ่ง คือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้รับจากรัฐธรรมนูญ และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหญ่กว่าอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสถาปนาที่เหนือกว่าอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จึงเสนอแก้ไข

ประเด็น ควบคุม

ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อธิบายว่าร่างแก้ไขนี้ 1.ควบคุมงบประมาณ ทั้งตั้งงบฯ และใช้งบฯ 2.ควบคุมคนที่จะไปนั่งในองค์กรอิสระ 3.ควบคุมคำวินิจฉัย และ 4.ควบคุมการถอดถอน

ขณะที่ฝ่ายชี้แจง เห็นว่า งบประมาณเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวกับองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่การควบคุม แต่ยึดหลักถ่วงดุล

และยืนยันว่าหลักถ่วงดุลทำให้เสียงข้างมาก ยึดครององค์กรอิสระไม่ได้

ส่วนรูปแบบการถอดถอนนั้น ฝ่ายชี้แจงระบุว่า นำมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540

เปลี่ยนเพียงผู้มีอำนาจถอดถอนจากเดิมที่กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจ

เปลี่ยนมาเป็นให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถอดถอน เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่มีวุฒิสภา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของความเห็นต่าง

เห็นต่างและโต้แย้งในรัฐสภา

เป็นมุมมองความเห็นที่ว่า ประเทศไทยควรกำหนดให้ใครมีอำนาจ

สภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรอื่นที่ไม่ใช่สภา

เป็นมุมมองที่เกี่ยวพันกับคนทั้งประเทศ

น่าเสียดายที่ความเห็นต่างดังกล่าวจบลงไปด้วยคนไม่เกิน 750 คน

เรื่องใหญ่เช่นนี้น่าจะให้คนทั้งชาติมีส่วนร่วม

ประชาชนคนไทยน่าจะมีโอกาสได้เลือก

เราจะมีรัฐธรรมนูญแบบใด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image