สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ไม่แคร์’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ไม่แคร์’ โดย ปราปต์ บุนปาน

กระบวนการทางการเมืองของ “รัฐไทย” และเครือข่าย ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การแสดงความรู้สึกผ “ไม่แคร์” คนข้างล่าง “ไม่แคร์” คนรุ่นใหม่ ออกมาโดยไม่ปิดบัง

คำเตือนต่อสื่อมวลชนของ กสทช. ที่ล้อไปกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน ก็ยิ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มของ “ความไม่แคร์” ดังกล่าว

มิหนำซ้ำ เรายังได้เป็นประจักษ์พยานของการมีท่าที “ไม่แคร์โลก” ด้วยการรณรงค์ต่อต้าน “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ “องค์การนิรโทษกรรมสากล” ซึ่งถ้าหากเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมฝ่ายขวากลุ่มเล็กๆ นี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเพี้ยนใดๆ

แต่เรื่องราวดันแปลกประหลาดมากขึ้น เมื่อข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเร่าร้อนจาก เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และยิ่งแย่หนักขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีมาร่วมออกโรงเรื่องการตรวจสอบแอมเนสตี้ฯ ด้วยตนเอง

Advertisement

โดยไม่ต้องกล่าวถึง “สังคมการเมืองในอุดมคติ” อันเต็มไปด้วยความเท่าเทียม

คำถามที่น่าสนใจในโลกแห่งความเป็นจริง คือ “ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม” ส่วนใหญ่ นั้นคงอยู่ได้อย่างไร?

คำตอบหรือคำอธิบายหนึ่งที่มีต่อคำถามข้างต้น ก็คือ ความไม่สมดุลทางอำนาจดังกล่าวอาจดำรงอยู่ได้ในเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่ “คนมีอำนาจ” ไม่จำเป็นต้องแคร์คนจำนวนมากที่ไร้อำนาจสักเท่าไหร่

Advertisement

แต่ตรงกันข้าม กลับต้องมีกระบวนการปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่าง ที่จะทำให้ผู้คนฝ่ายหลังหรือ “ผู้ด้อยอำนาจ” รู้สึกว่าพวกตนต้องแคร์ “ผู้มีอำนาจ” (ที่ “ไม่แคร์” พวกเขา) มากขึ้นๆ

พูดอีกอย่างได้ว่าในความสัมพันธ์ทำนองนี้ บรรดา “คนไร้อำนาจ” ต้องอุทิศแรงใจแรงกายอย่างหนักหน่วงเพื่อสถานภาพอันมั่นคงของ “คนมีอำนาจ”

ขณะที่ “ผู้มีอำนาจ” ต้องพยายาม “แสดง/สวมบทบาท” ว่าตนเองรู้สึกแคร์ “ผู้ด้อยอำนาจ” หรือต้องไม่แสดงความรู้สึก “ไม่แคร์” ออกมาอย่างโจ่งแจ้ง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ มีอยู่ว่าบรรดาเครือข่าย “ผู้มีอำนาจ” ต่างแสดง “ความไม่แคร์” ผู้คนพลเมืองส่วนใหญ่กันแบบโต้งๆ

อีกด้านหนึ่ง เหล่า “คนไร้อำนาจ” ที่มองเห็น “ความไม่แคร์” ของฝ่ายแรกเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าพวกตนไม่จำเป็นต้องแสดงความรู้สึกรักใคร่ห่วงใยใดๆ กลับไปยังอีกฝ่าย

สรุปความได้ว่า “ดุลอำนาจที่ซ่อนเร้นความไม่สมดุลเอาไว้” นั้นเริ่มปริร้าว กระทั่ง “ภาวะไม่เท่าเทียม” ที่เคยถูกปิดกลบค่อยๆ ปรากฏกายขึ้นมา ในการรับรู้ของ “ผู้คนที่เสียเปรียบ”

เรื่องน่าตลก ก็คือ แม้แต่ในพื้นที่เล็กๆ ที่คนรุ่นใหม่บางส่วน ซึ่งไม่ได้กระตือรือร้นทางการเมือง (ด้วยการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ปฏิวัติ อะไรทั้งสิ้น) พยายามจะแสดงความรัก-ความแคร์สถาบันหลักของชาติออกมาด้วยสไตล์และรสนิยมของพวกเขา ก็ยังถูกปิดกั้นจากเครือข่ายอำนาจรัฐ

คนที่ตามข่าวบันเทิง กรณี สนธิญา สวัสดี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ “แอนชิลี สก็อต-เคมมิส” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 ว่ากระทำความผิดฐานนำธงชาติไทยไปใช้อย่างไม่เหมาะสม คงจะพอเข้าใจประเด็นนี้ได้อยู่บ้าง

กรณี “นักร้อง” ฟ้อง “นางงาม” แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ระยะห่างทางสังคมการเมืองจะถ่างกว้างมากขึ้น จากความรู้สึก “ไม่แคร์ซึ่งกันและกัน” ของแต่ละฝ่าย

ทว่าต่อให้ “คนที่มีอำนาจน้อยกว่า” ยังอยากจะแคร์ ยังอยากจะรักชาติ ยังอยากจะมีแนวคิด “ชาตินิยมแบบทันสมัย” อยู่

“คนมีอำนาจ” ที่มีจุดยืน “ขวาจัด” มากขึ้น ก็ยังจะระงับ ยับยั้ง และกีดกัน “ความรักชาติ” เช่นนั้นออกไปอยู่ดี

นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมืองไทย แบบที่เคยดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษ กำลังจะไปต่อไม่ได้ และต้องถูกปรับเปลี่ยน

แต่จะเปลี่ยนอย่างไร ไปสู่ทิศทางไหน นั้นก็ยากเกินการคาดเดา ณ ปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image