สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมืองไทย’ จากปีเก่าสู่ปีใหม่ โดย ปราปต์ บุนปาน

พ.ศ.2564 ผ่านพ้นเข้าสู่ พ.ศ.2565 น่าตั้งคำถามว่า ในทางการเมือง มีอะไรจากปีเก่าที่จะยังคงดำรงอยู่และส่งผลกระทบมาถึงปีใหม่นี้บ้าง

ความเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็คือ หลายคนหลายฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่าเครือข่ายผู้ถือครองอำนาจในสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบันนั้น มิอาจถูกเรียกขานอย่างรวมๆ ว่าเป็น “ฝ่ายอนุรักษนิยม-ฝ่ายขวา” ได้อีกต่อไป

ตรงกันข้าม มีผู้รู้หลายท่านที่เรียกเครือข่ายอำนาจกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก “ขวาจัดสุดโต่ง” หรือ “จารีตนิยม”

หากพิจารณาจากการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่แคร์ใครและไม่ฟังใคร ทั้งยังไม่พร้อมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น

Advertisement

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง เราเริ่มประจักษ์ชัดได้ว่าความชอบธรรม โดยเฉพาะอำนาจในเชิงวัฒนธรรม ของฝ่าย “ขวาสุดโต่ง-จารีตนิยม” นั้น ดูจะลดต่ำแคบเรียวลงเรื่อยๆ

ในเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง

ไม่อาจปฏิเสธว่าประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวกระตือรือร้นอย่างคึกคักเปี่ยมพลังในปี 2563 นั้นถูกดำเนินคดี ปราบปราม และจับกุมคุมขัง โดยไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพกลับคืนมาอย่างง่ายๆ ในปี 2564

Advertisement

นี่คือการสูญเสียแกนนำของขบวนการ ซึ่งบ่งบอกว่าการต่อสู้จะต้องเปลี่ยนเฟสหรือเปลี่ยนรูปแบบแน่ๆ

แต่ถ้าถามว่านี่คือการหมดหวังหรือความพ่ายแพ้ใช่หรือไม่?

คำตอบก็คืออาจไม่ใช่เสียทีเดียว

หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายครองอำนาจได้ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเองไปจนเกือบหมดสิ้น

จากปี 2564 ถึง 2565 (และ 2566) สนามการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมจึงเปิดกว้างยิ่งขึ้น
ดังที่เราได้พบเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาย พยายามต่อสู้ต่อรองกับอำนาจผ่านมิติต่างๆ
ในชีวิตประจำวัน (ด้วยอาวุธ-ค่านิยมใหม่ๆ เช่น “แคนเซิล คัลเจอร์”) อย่างซึมลึกแต่ไม่ควร
มองข้าม

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ “ทะลุแก๊ซ” ซึ่งอุบัติขึ้นอย่างวูบวาบเร้าใจ ก็บ่งชี้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้ง ความขุ่นเคืองบางอย่าง ที่ถูกกดทับปิดซ่อนเอาไว้ใต้พรม ทว่าสามารถระเบิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นเร้าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ในแง่การต่อสู้ภายในระบบ ดูเหมือน “การเลือกตั้ง” (ทั้งเลือกตั้งซ่อม, เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-นายกเมืองพัทยา และเลือกตั้งใหญ่ปี 2565-66) มีแนวโน้มจะมาถึงก่อนการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง-กติกาทางการเมืองอันพิกลพิการ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

นี่จะเป็นการเลือกตั้งที่หลายพรรคหลายกลุ่มต่างเตรียมตัวลงแข่งขัน มากกว่าจะเป็นสนามประลองยุทธศาสตร์การแย่งชิงคะแนนเสียง ระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ขั้วหนึ่ง กับ
“ฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย” อีกขั้วหนึ่ง

ถ้าพูดในภาษาสวยๆ ภาวะเช่นนี้ก็อาจเป็นความแตกต่างหลากหลายอันงดงาม แต่หากมองโลกในแง่ร้ายหรือดาร์ก สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนถึงความไม่เป็นปึกแผ่นไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความหลากหลาย-ความไม่เป็นปึกแผ่นดังกล่าวบอกเราว่า “ฉันทามติใหม่ทางสังคมการเมือง” นั้นยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในเครือข่ายผู้ถือครองอำนาจ และในฝ่ายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นสภาพการณ์ที่เลี่ยงได้ยาก เพราะเมื่อ “ฝ่ายขวาสุดโต่ง” กำลังเหลิงอำนาจ ก็คงต้องมี (ผู้แสดงตนว่าเป็น) “ขวาเฉดอื่นๆ” ที่มีเหตุผลและมีสติมากกว่า
คอยทำหน้าที่ถ่วงดุล

เช่นเดียวกัน เมื่อ “ขบวนการประชาธิปไตย” ตั้งแต่ปี 2552-53 ไม่สามารถผลักดันความเปลียนแปลงระยะยาวให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ก็อาจต้องเปิดที่ทางใหม่ๆ ให้แก่ “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบอื่นๆ” ดูบ้าง

เหล่านี้คือพลวัตทางการเมืองที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปตลอดเวลา จากวันสู่วัน สัปดาห์สู่สัปดาห์ เดือนสู่เดือน และปีสู่ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image