สถานีคิดเลขที่ 12 : รอยร้าวที่ ‘ชุมพร-สงขลา’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : รอยร้าวที่‘ชุมพร-สงขลา’

สถานีคิดเลขที่ 12 : รอยร้าวที่ ‘ชุมพร-สงขลา’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หน้าไหน

สนามเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชุมพร เขต 1 และจังหวัดสงขลา เขต 6 ก็แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างหนักหน่วง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คือ พรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

เริ่มต้นด้วยการส่งผู้สมัครลงแข่งขันกัน ทั้งๆ ที่ประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม

Advertisement

สำหรับบางคน นี่จึงเป็นการชิงชัยที่มิได้คำนึงถึงเรื่อง “มารยาททางการเมือง”
สักเท่าไหร่

หรืออาจพูดอีกอย่างได้ว่าการสับหลีกผู้สมัครสำหรับ “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่หลายคนใฝ่ฝันให้เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน-ฟากประชาธิปไตยนั้น

ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน

Advertisement

ความดุเดือดยังแพร่ลามมาถึงการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายของแกนนำทั้งสองพรรค

ที่ซัดกันหนักตั้งแต่เรื่องการแย่งกันเคลมนโยบาย “คนละครึ่ง”

การแบ่งแยกจัดจำแนกคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ด้วยฐานะ “รวย-จน” กระทั่งนำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่อง “หมิ่นคนใต้”

ไปจนถึงการขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ออกจากตำแหน่ง

หรือการฉายภาพให้เห็นว่าถ้าพลเอก… หาชีวิตไม่แล้ว พรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็อาจต้องถึงคราวดับสูญสิ้นสลายไป

หลายคนมองว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดชุมพรและสงขลา ก่อนหน้าวันเลือกตั้งซ่อม 16 มกราคม 2565 มีสถานะเป็นเพียง “ละครการเมือง” ฉากหนึ่ง

แต่เอาเข้าจริง ดูเหมือนเราจะต้องกลับมาพิจารณาและนิยามกันให้ดีๆ ด้วยว่า “ละครการเมือง” นั้นดำรงอยู่ตรงจุดไหน-ช่วงเวลาใดกันแน่? และอะไรคือ “ความเป็นจริงทางการเมือง”?

เพื่อจะหาคำตอบให้ได้ชัดเจนว่า การหาเสียงเลือกตั้งซ่อมภาคใต้คือ “ละครทางการเมือง” ส่วนการกลับไปทำงาน-ร่วมรัฐบาลกันต่อระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์คือ “ความเป็นจริงทางการเมือง”

หรือว่าการทำงาน-ร่วมรัฐบาลกันมาเกือบสามปีคือ “ละครทางการเมือง” ส่วนการใส่กันยับในช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ไม่นานนักคือ “ความเป็นจริงทางการเมือง”

หากแนวโน้มคือ แบบแรก การปราศรัยที่ชุมพร-สงขลา ก็จะมีค่าเป็นแค่ “มหรสพ” ที่ดูเอามันส์ ฟังเอาสนุก ตรงข้ามกับ “ความจริง” ที่แผงอำนาจรัฐในปัจจุบันยังคงแข็งแกร่ง “ระบอบประยุทธ์” ยังเดินหน้าต่อไปได้อีกระยะ

ทว่า ถ้าเป็นอย่างหลัง ความระหองระแหงจริงๆ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็คลี่เผยให้เห็นสภาวะร้าวลึก ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในหมู่ผู้ถือครองอำนาจรัฐ

โดยปลายทางสุดขั้วของความขัดแย้งรอบนี้ ก็อาจเป็นการต้องถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลของพรรคการเมืองบางพรรค

นี่คือเรื่องราว “ระหว่างทาง” และสถานการณ์ “ข้างหน้า” ที่สำคัญและน่าติดตามไม่น้อยกว่าผลคะแนนเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image