สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมืองบนโต๊ะอาหาร’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมืองบนโต๊ะอาหาร’ การ “เล่นการเมือง” “คุยการเมือง”

การ “เล่นการเมือง” “คุยการเมือง” หรือ “ทำงานการเมือง” บน “โต๊ะอาหาร” นั้น ถือเป็นเรื่องที่ทำกันในทุกฝ่าย ตั้งแต่ “สโมสรราชพฤกษ์” ไปจนถึง “สิงคโปร์”

โดยวางอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ซึ่งมีอยู่ว่า “การเมือง” คือ การเจรจา พูดคุย ต่อรอง เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันจัดสรรอำนาจ

ในระดับกว้างขวางสุด การเจรจา-ต่อรองทางการเมือง ได้เกิดขึ้นผ่านการลงคะแนนเสียงของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง ตลอดจนการมีปฏิกิริยาหรือการแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะต่างๆ ของสาธารณชน (ซึ่งปัจจุบันสามารถวัดได้ชัด-ดูได้เร็ว จากโซเชียลมีเดียหลากหลายแขนง)

การเจรจา-ต่อรองทางการเมืองในระดับที่แคบลงมา แต่เป็นทางการและนำไปสู่ผลลัพธ์ในทางปฏิบัติมากกว่า ก็จะเกิดขึ้นในการประชุมสภา-ประชุมคณะกรรมาธิการ การประชุมคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงการประชุมของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานราชการ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

Advertisement

สุดท้าย การเจรจา-ต่อรองทางการเมืองในวงเล็กที่สุด แต่อาจเกี่ยวพันกับการตัดสินใจในระดับลึกที่สุด (จะเป็น “ดีลลับ” หรือไม่คืออีกประเด็นหนึ่ง) ก็มักเกิดขึ้นในวงรับประทานอาหารระหว่างผู้นำ-ชนชั้นนำ

ด้วยเหตุนี้ การ “พูดคุยการเมือง” บนโต๊ะอาหาร จึงมิใช่เรื่องผิดแผกแปลกประหลาดและไม่ใช่เรื่องผิด

ทว่า ขณะเดียวกัน นี่ก็ไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของ “การทำงานการเมือง” ด้วย

Advertisement

เพราะไม่อาจปฏิเสธว่า การพูดคุย-ต่อรองในวงเล็กๆ กันได้ “รู้เรื่อง” หรือเสมือนจะ “ลงตัว” นั้นยังรายล้อมด้วยปัจจัยทางการเมืองประการอื่นๆ ภายนอกห้องรับประทานอาหาร

ณ ศูนย์กลางจักรวาลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ประเด็นสำคัญของ “การเมืองบนโต๊ะอาหาร” อาจอยู่ที่เรื่องบรรดาท่านผู้นำกินอาหารเมนูอะไรกันบ้าง? ใครเป็นคนทำ? พวกเขาสามารถเคลียร์ใจกันได้มากน้อยแค่ไหน?

แต่ในพื้นที่อันลดหลั่นลงไปจนถึงตีนเขา ชาวบ้าน-คนหาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่ของประเทศนี้ กลับยังต้องผจญกับปัญหาข้าวของแพง น้ำมันขึ้นราคา เศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพพุ่งสูง ส่วนรายได้เท่าเดิม หลังจากต้องอดทนกับภาวะ “โควิดระบาด” มาร่วมสองปี

ท่ามกลางความย้อนแย้งเช่นนี้ “วาทะ” ที่ “ไร้ศาสตร์และศิลป์” ของผู้มีอำนาจหรือรัฐมนตรีในรัฐบาล กลับถูกสื่อสารไปสู่สาธารณชนรอบแล้วรอบเล่า

จนถึงตัวอย่างล่าสุด เช่น การแนะนำให้ใช้ “มะขามเปียก-มะม่วง” แทน “มะนาว” หรือการสั่งสอนให้ประชาชนใช้บริการ “ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ” แทน “รถยนต์ส่วนตัว”

นับเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ในวงรับประทานอาหารเล็กๆ ของผู้นำไม่กี่คน นั้นคล้ายจะดำเนินไปด้วยบรรยากาศชื่นมื่น

ทว่า นอกวงกินข้าวของชนชั้นนำ การสื่อสารการเมืองในทำนอง “ไม่มีขนมปังกิน ก็ไปกินเค้กสิ” ดันถูกเน้นย้ำออกมาเป็นระยะๆ

เป็นการเน้นย้ำให้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำ และปลุกปั่นให้ประชาชนผู้ด้อยอำนาจ-เข้าไม่ถึงทรัพยากร สั่งสมอารมณ์ความรู้สึกเดือดดาล โดยที่ผู้พูดอาจไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ วงกินข้าวใดๆ ก็ตาม ยังสะท้อนสัจธรรมสำคัญอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา”

ในกรณีของวงรับประทานระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ ณ สโมสรราชพฤกษ์ ใครๆ ต่างก็รับรู้ว่านี่เป็น “งานเลี้ยง” ที่เดินทางมาไกลมากจากจุดเริ่มต้น และดูจะเป็น “งานอำลา” เพื่อนับถอยหลังไปพร้อมๆ กัน

ขึ้นอยู่กับว่า “งานเลี้ยงวงนี้” จะจบและเลิกรากันอย่างไรเท่านั้นเอง?

จะเป็นการสรุปจบเพื่อจับมือกันต่ออีกสมัย?

จะเป็นการแยกย้ายกันไปจับขั้วและหาหลักยึดหลักใหม่?

หรือจะเป็นการพยายามลงจาก “หลังเสือ” และเป็นบทอวสานของบางกลุ่ม-บางคน

ชะตากรรมทั้งหมดนี้ ไม่ได้ถูกกำหนดเกมโดยคนหยิบมือเดียวรอบวงรับประทานอาหารที่มี “3 ป.” เป็นแกนกลาง

แต่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอีกมากมายหลายล้านรายที่ไม่ได้เข้าไปร่วมกินข้าวเย็นมื้อนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image