สถานีคิดเลขที่ 12 : คน กทม.เลือกเอง

สถานีคิดเลขที่ 12 : คน กทม.เลือกเอง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

ตลอด 5 วัน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.)

เปิดรับสมัคร มีทั้ง “บิ๊กเนม” และ “โนเนม” ตบเท้ามาสมัครชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. 31 คน และ ส.ก. 382 คน มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์การชิงชัยสนามเมืองหลวง

เหตุที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในสนาม กทม.คึกคักเช่นนี้ ปัจจัยสำคัญ คือ การว่างเว้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มากว่า 9 ปี ที่มีการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เฉือนชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าวินเป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 16 ท่ามกลางการแข่งขันและปัจจัยทางการเมืองในขณะนั้น ที่มีการแบ่งขั้ว แบ่งฝ่ายกันชัด ผ่านวลีการหาเสียงก่อนวันเลือกตั้ง

Advertisement

ที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของผล “แพ้-ชนะ” ในเวลานั้นว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองและช่องทางการสื่อสารของคน กทม.ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย

นำมาซึ่งจุดยืนในทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ของทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนด้วย

Advertisement

โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ถ้านับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จะมีประมาณ 6 แสนคน ที่จะมีส่วนสำคัญในการชี้ทิศทางและผลการเลือกตั้งในสนาม กทม.

เหมือนกับที่นักวิชาการ อย่าง อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า

“ครั้งนี้จะเกิดตัวแปรคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีประมาณ 6 แสนเสียง หรือ 32% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ มีแนวโน้มจะเลือกผู้สมัครที่ไม่เป็นพันธมิตรกับทหาร

และตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ไม่ติดตามอารมณ์ ดังนั้น คน กทม.ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือคนยุคเบบี้บูมเมอร์ จะถูกท้าทายด้วยกลุ่มคนเจนเอ็กซ์และเจนวาย ที่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การตัดสินใจได้”

เพราะห้วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 และ กทม.ได้ผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง ตามมาตรา 44 ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2565

ชาว กทม.และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต่างสัมผัสและรับรู้ได้ถึงการบริหารจัดการของผู้บริหาร กทม. ว่าทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งแต่ละคนคงมีคำตอบไว้ในใจอยู่แล้ว

ว่าจะเลือกผู้บริหาร กทม.ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 ควรจะมีสเปกแบบไหน ในการมาดูแล สุข ทุกข์ ทุกมิติของคน กทม. ช่วง 4 ปี นับจากนี้

โดยไม่ต้องมีใครมาสวมหมวกเป็นคนดี คอยแนะนำว่า จะต้องเลือกคนเข้ามาบริหารงานใน กทม. ต้องเป็นคนดี เป็นแบบนั้น แบบนี้

เพราะถ้าผู้ว่าฯกทม.ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามา จะบริหารงานได้ “ดี” หรือ “แย่” แค่ไหน ก็ถือเป็น “ฉันทามติ” ที่คน กทม.ได้เลือกมาแล้ว

ถึงเวลา 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ ตามกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image