สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเลือกตั้ง’ กับ ‘ความเปลี่ยนแปลง’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเลือกตั้ง’กับ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ยิ่งนานวันเข้า
แฟ้มภาพ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเลือกตั้ง’ กับ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ปราปต์ บุนปาน

ยิ่งนานวันเข้า ยิ่งเห็นด้วยกับคำกล่าวในทำนองว่า “ยิ่งเลือกตั้งเยอะๆ บ่อยๆ การเมืองยิ่งเปลี่ยน” มากขึ้นทุกที

ถ้าคำกล่าวข้างต้นถูกเอ่ยขึ้นในบรรยากาศการเมืองไทยหลังปี 2535 หรือหลังการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่การเลือกตั้งระดับชาติ คือ การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไปจนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

“การเมืองที่เปลี่ยน” ก็คงจะเปลี่ยนไปแบบช้าๆ จนบางครั้ง หลายคนอาจสังเกตไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ

ยกเว้นชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในทศวรรษ 2540 ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงผลการเลือกตั้ง ความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย และความเปลี่ยนแปลงในสงครามอุดมการณ์

Advertisement

อย่างไรก็ดี พอการเลือกตั้งถูกเว้นวรรคทิ้งช่วงไปนานๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบอย่างการทำรัฐประหาร ทั้งในปี 2549 และ 2557 เข้ามาคั่นขวางเป็นระยะๆ

การเลือกตั้งครั้งหลังๆ ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย จึงมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนแจ่มชัด

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ทำให้ผู้มีอำนาจและประชาชนตระหนักว่าพรรคการเมืองขั้วประชาธิปไตยนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น พิจารณาจากความเหนียวแน่นของพรรคเพื่อไทย และการก่อกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่

Advertisement

การพยายามสกัดกั้นหรือแก้ปัญหาในแนวทางเดิมๆ กับโจทย์ใหม่ๆ อย่างการยุบพรรคอนาคตใหม่ กลับนำพาสังคมไปเผชิญหน้าความท้าทายชุดใหม่ที่ยืดเยื้อและเรื้อรังกว่าเก่า

นั่นคือการอุบัติขึ้นของ “ม็อบเยาวชน” ซึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถามสำคัญทางการเมือง

แม้รัฐจะใช้อำนาจกด ปราบ จับกุม และคุมขังเยาวชนเหล่านั้น ทว่า ทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าความขัดแย้งมิได้สงบจบสิ้นลง เพียงแต่รอวันปะทุขึ้นมาใหม่

แม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่ถูกหลายคนประเมินว่าเป็นเรื่อง “การเมืองท้องถิ่น”มากกว่า “การเมืองระดับชาติ” ก็ยังมีชุดความเปลี่ยนแปลงอันน่าสนใจบังเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ คือ ปฏิกิริยาต่อการติดตั้ง “ป้ายหาเสียง” ซึ่งบ่งบอกว่าบรรดาพลเมืองผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นั้นมีแนวคิดเรื่องการใช้สอยพื้นที่ของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

หมายความว่า ความคาดหวังที่พวกเขามีต่อผู้อาสาเข้ามาบริหารจัดการเมือง ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

หรือกับกรณีล่าสุด ที่มีอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ก็มีความโยงใยกับการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย

เพราะผู้ถูกกล่าวหา (เคย) มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการหาเสียงเลือกตั้งหนนี้ (และดูเหมือนข้อกล่าวหาที่ประดังประเดเข้ามา อาจส่งผลกระทบต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ และ ส.ก.ของพรรคการเมืองต้นสังกัดอยู่พอสมควร)

ขณะที่หนึ่งในผู้เข้าแจ้งความก็ลงสมัครเป็น ส.ก.ด้วยเช่นกัน

ข้อกล่าวหาที่เพิ่งเกิดขึ้น บ่งชี้ว่าผู้คนในสังคมกำลังร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมระดับใหม่ให้กับนักการเมืองไทย

เนื่องจากสิ่งที่เคยเป็นวิถีปกติ เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แต่ไม่ถูกพูดถึง ภายใต้โครงสร้างวัฒนธรรมที่ “ผู้ชาย” (ซึ่งมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม) เป็นใหญ่ ได้พลิกผันกลายมาเป็นเรื่องผิดปกติ ยอมรับไม่ได้ และต้องถูกเปิดโปง

ถ้าเรื่องที่กำลังดำเนินไปในบ้านเรา คือ ปรากฏการณ์เดียวกันกับขบวนการเคลื่อนไหว #metoo ในต่างประเทศ จุดหมายปลายทางก็คงมิได้หยุดอยู่แค่ตรงความผิดบาปฉาวโฉ่ของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

แต่อาจเป็นผลสั่นสะเทือนที่ขยายวงกว้างไปยังทุกพื้นที่ในสังคม ซึ่งเคยเกิดกรณีล่วงละเมิดทำนองเดียวกัน

“ความเปลี่ยนแปลงไม่เล็ก” ในสนามเลือกตั้ง กทม. ก็ไม่ต่างอะไรกับ “ความเปลี่ยนแปลงแรงๆ” หลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2562

กล่าวคือ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถระงับยับยั้งได้ด้วยรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เนติบริกร หรือกลไกอำนาจรัฐใดๆ

แต่นี่คือความเปลี่ยนแปลงใน “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม”

เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในความคิดจิตใจของผู้คน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image