สถานีคิดเลขที่ 12 : กลุ่มยังไม่เลือกใคร

สถานีคิดเลขที่ 12 : กลุ่มยังไม่เลือกใคร อีกประมาณ 11 วัน ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า

อีกประมาณ 11 วัน ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ชาวกรุงเทพมหานคร ทั้ง 4,374,131 คน จะออกไปใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. ในวันที่ 22 พฤษภาคม ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ว่าจะมอบฉันทามติให้ผู้ใดเข้ามาทำหน้าที่

ผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต ดูแลสุข ทุกข์ และคุณภาพชีวิตให้กับชาว กทม. ในห้วงวาระการดำรงตำแหน่งอีก 4 ปีนับจากนี้

โดยผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. 31 คน ทั้งผู้สมัครแบบอิสระ ผู้สมัครจากพรรคการเมือง ต่างลุยหาเสียงนับตั้งแต่วันที่ได้เบอร์ จนถึงวันนี้

เกือบจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ผู้สมัครทยอยเปิดกลยุทธ์ ทั้งลงพื้นที่ เปิดเวทีปราศรัยผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

Advertisement

หวังให้การสื่อสารทั้งตัวนโยบาย จุดยืน และความตั้งใจในการเข้าไปอาสาทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. ไปถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม.ให้มากที่สุด

ขณะที่ผลการสำรวจความนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จากสำนักโพลต่างๆ ผ่านระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ ผลสำรวจที่ออกมา ชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่ติดอันดับได้จำนวนเปอร์เซ็นต์ อยู่ในลำดับ 1 ใน 5 ของการสำรวจในทุกครั้งที่ผ่านมา

โดยอันดับ 1 ยังเป็น ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แบบอิสระ ที่เปิดตัวมาก่อนใคร

Advertisement

อย่างผลการสำรวจของ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เรื่อง ผู้ว่าฯคนใหม่ในหัวใจประชาชน ระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. คนใด อันดับหนึ่ง คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 24.1% อันดับสอง สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ 13.1%

อันดับสาม สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 13.0% อันดับสี่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ 8.4% ส่วนอันดับห้า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) 7.5%

ส่วนสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทุกคนต้องการ

จากผลสำรวจของซูเปอร์โพล ล่าสุดคือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนใด ที่มีสัดส่วนถึง 30.8% ชี้วัดเปลี่ยนแปลงผล “แพ้” และ “ชนะ” ต่อผู้สมัครคนนั้นๆ ได้

เหมือนกับที่ผู้อำนวยการซูเปอร์โพลชี้แจงว่า ผู้สมัครทุกคนยังคงมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง เพราะกลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจยังมีอยู่จำนวนมาก

ในขณะที่ผู้สมัครบางคนอาจจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ความอ่อนไหวเปราะบางในสังคมที่เกิดขึ้นในการรับรู้ของประชาชนคนกรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้คะแนนที่ได้มีอาการแกว่งตัวขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วประกอบกับปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น ภาพลักษณ์ส่วนตัวของผู้สมัคร (Personal Branding)

นโยบาย การลงพื้นที่ การประชันวิสัยทัศน์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์และภาพจำอดีตของประชาชน เป็นต้น อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ส่วนผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะเป็นไปตามผลการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ หรือไม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม. คือ ผู้ให้คำตอบ

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image