สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผู้ว่าฯเลือกตั้ง’ กับ ‘อำนาจนอกระบบ’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผู้ว่าฯเลือกตั้ง’กับ‘อำนาจนอกระบบ’ คําถามปิดท้าย

คําถามปิดท้ายของเวทีเสวนา “คุณถามมา ผู้สมัครผู้ว่า (กทม.) ตอบ” ที่จัดโดยสื่อเครือมติชน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อผู้ดำเนินรายการถาม 4 แคนดิเดตผู้มาร่วมรายการ ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควรจะรับมืออย่างไรกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน?

ผู้ว่าฯกทม.ควรจะมีท่าทีเช่นใดหากเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง (โดยการมอบหมายของรัฐบาล) ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ?

และถ้าเกิดการรัฐประหาร ผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ควรแสดงจุดยืน-ท่าทีแบบใด?

Advertisement

ผู้ร่วมรายการทั้งหมดตอบคำถามส่วนแรกในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ว่าฯกทม.ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ออกมาชุมนุมให้ดีที่สุด ผ่านการอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่พลเมืองเหล่านั้น

ที่แตกต่างกันกลับเป็นคำตอบที่มีต่อคำถามย่อยข้อสองคาบเกี่ยวกับข้อสาม

น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ยอมรับตรงๆ (ทั้งในฐานะนักการเมืองมากประสบการณ์และอดีตข้าราชการทหาร) ว่าหากเกิดรัฐประหารขึ้นจริงๆ ผู้ว่าฯจะทำอะไรไม่ได้เลยในเชิงอำนาจหน้าที่ และจำเป็นต้องยอมรับรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าว

Advertisement

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอบด้วยความมั่นใจว่าตนเองจะเป็นผู้ว่าฯที่ไม่เอารัฐประหาร แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมมากนัก

เช่น ถ้าจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มิได้ออกมาต่อต้านรัฐประหารแบบชัดๆ แต่เลือกจะทำตัวเงียบๆ เนียนๆ หรือหันไปกล่าวโทษว่า “นักการเมืองไม่ดี” (ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวเอง) คือบ่อเกิดสำคัญของการยึดอำนาจ

แล้ว ดร.เอ้ จะต้องทำตัวอย่างไร? ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวแค่ไหน?

คำตอบที่ชวนให้คิดต่อได้เยอะนั้นมาจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ของพรรคก้าวไกล และผู้สมัครอิสระ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วิโรจน์และชัชชาตินำเสนอคล้ายคลึงกันว่า ผู้ว่าฯจะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตนเอง คัดง้างกับปฏิบัติการอันไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง

ทว่า ก็เป็นการคัดง้างด้วยวิธีการและท่าทีคนละแบบ

วิโรจน์ยืนยันว่ามีกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ที่ผู้ว่าฯกทม.สามารถนำไปใช้ “ปะทะชน” กับ “ตู้คอนเทนเนอร์-ลวดหนามหีบเพลง” ในฐานะวัสดุอุปกรณ์ที่กีดขวางสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของราษฎรได้

ชัชชาติขับเน้นแนวทางเรื่องการ “ดูแลรักษา” โดยระบุว่าจะต้องเร่งให้โรงพยาบาลสังกัด กทม. รีบเข้าไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกปราบปรามจนได้รับบาดเจ็บ เพราะคนกลุ่มแรกที่กรุงเทพฯต้องใส่ใจคือประชาชน ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายใช้กำลัง

ทั้งคู่ยังย้อนภูมิหลังว่าพวกตนยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐที่ใช้ความรุนแรงละเมิดประชาชน และการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยอำนาจนอกระบบมาโดยตลอด

วิโรจน์กล่าวถึงการซุ่มยิงประชาชนจากบนรางรถไฟฟ้าเมื่อปี 2553 และการขัดขวางม็อบเยาวชนในช่วงหลายปีหลัง ด้วยอารมณ์ขุ่นแค้นเดือดดาล

ขณะที่ชัชชาติย้ำว่าเขาคือสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งโดนยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร 2557

นี่นำไปสู่คำตอบต่อคำถามย่อยข้อสุดท้าย ที่เป็น “ความเหมือนบนความต่าง”

เมื่อวิโรจน์ประกาศว่าถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ตนเองจะออกไปต่อต้านอำนาจเถื่อนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

นี่เป็นการตอบด้วยเจตจำนงและมโนสำนึกทางการเมืองล้วนๆ โดยโยนแนวคิดเรื่องอำนาจ-หน้าที่ของผู้ว่าฯทิ้งไป

ส่วนชัชชาติพูดชัดว่าเขาจะยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ต่อไป และพยายามดูแลประชาชนให้ดีที่สุด บนพื้นฐานของการไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับรัฐประหาร

นี่คือคำตอบที่บ่งชี้ว่าการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยนั้นมีได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง

ขึ้นอยู่กับว่าโหวตเตอร์ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการ “ตัวแทน” แบบไหน? และอยากต่อสู้กับอำนาจนอกระบบอย่างไร?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image