สถานีคิดเลขที่ 12 : ทำไม่ได้-ไล่ได้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

ระหว่างรอ กกต.ประกาศรับรองผล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.อย่างเป็นทางการ

มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งที่ห่วงใย เอาใจช่วย และแซะ ตั้งคำถาม

นโยบายที่ใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 214 ข้อ ซึ่งมีระดับความยากง่าย ต่างกันนั้น

Advertisement

จะทำได้ทั้งหมดจริงหรือไม่

นโยบาย 9 มิติ 200 กว่าข้อ ที่ชัชชาติใช้หาเสียง มีอาทิ กรุงเทพฯ ต้องสว่าง กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง ลดรถ ลดติด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนาเมือง วางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง โรงเรียนประสิทธิภาพสูง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข

นักวิชาการบางท่าน เชื่อว่า เมื่อเข้ามาบริหารแล้ว ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ จะจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหาที่ต้องแก้ไข อะไรต้องทำก่อนหลัง คงทำได้ไม่ครบทั้งหมด ในเทอมของการดำรงตำแหน่ง

Advertisement

และฝ่ายตรงข้าม คู่แข่งการเมือง จะตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น ไล่เรียงทีละประเด็น

ทำได้จริงหรือไม่

กรุงเทพมหานครห่างร้างเลือกตั้ง ผู้ว่าฯมา 9 ปี

เลือกตั้งครั้งล่าสุด คือต้นปี 2556 จากนั้นภายหลังการรัฐประหาร

ตุลาคม 2559 มีการยึดอำนาจ กทม. ปลดผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจ ม.44 แต่งตั้ง ผู้ว่าฯมานั่งคุม บริหาร กทม.แทน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กทม.ตกอยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง

จากการตัดสินใจเลือก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติผู้สมัคร นโยบายที่นำเสนอ และความเป็นไปได้จริงในการนำไปปฏิบัติ

ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่เห็นแผนที่ลายแทง กทม.จะเดินไปในทิศทางใดไม่พอ

ยังไม่มีวาระดำรงตำแหน่งอีกต่างหาก

ไม่ว่า ผู้ว่าฯจะบริหาร กทม.ดี แย่อย่างไร

ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนตัว ผู้ว่าฯได้เด็ดขาด

จนกว่า จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือ (หัวหน้า) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น ตามคำสั่ง ม.44 ที่เขียนล็อกไว้

แต่การเลือกตั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น
ว่าที่ผู้ว่าฯนั้น

ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

ที่บัญญัติเอาไว้ ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

นั่นหมายความว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะอยู่ในตำแหน่ง 4 ปีเท่านั้น

เมื่อมีเทอม ชัดเจน แน่นอน ตายตัว

คำถามที่ว่า 214 ข้อ จะทำได้หรือไม่

ก็ไม่ใช่เรื่อง เลวร้ายรุนแรง

ตรงกันข้าม กลับดีด้วยซ้ำ ที่ชัชชาติประกาศนโยบาย ให้คำมั่นสัญญา 214 ข้อ

เนื่องจากทำให้ชาวกรุงเทพมหานครมั่นใจ ว่าเมื่อเลือกแล้วจะได้รับอะไรเป็นสิ่งตอบแทนบ้าง

เหมือนเขียนคู่มือไว้ ให้ตรวจสอบ

ว่าทำได้ทั้งหมด หรือมาก น้อยแค่ไหน ไปจนถึง ล้มเหลวทำไม่ได้เลย

คล้ายออกแบบฟอร์มล่วงหน้า ให้กรอก เป็นข้อๆ

ประเมินผลงาน

ถ้าทำไม่ได้ ล้มเหลว งานไม่ดี ท่านจะกลัวอะไร

4 ปีก็เลือกใหม่ เปลี่ยนใหม่ได้

ระบบมีทางออก แก้ไขในตัว

อีกทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็ตรงไป ตรงมา ใครได้คะแนนสูงสุด คนนั้นก็ชนะเลือกตั้ง
ไม่มีทางเป็นอื่น

ต่างกับเลือกตั้งทั่วไปลิบลับ

พรรคการเมือง-คนที่ชนะเลือกตั้ง ได้อาณัติจากประชาชน ให้เข้าไปนั่งบริหารประเทศ กลับแพ้ต่อกติกา บทเฉพาะกาล

ได้รัฐบาล (จะ) ครบ 4 ปี

แต่ไม่มีทีท่า จะเปลี่ยนได้ ด้วยการเลือกตั้ง ตัดสินโดยประชาชน

นี่มากกว่าน่าห่วง-น่าวิตก ยิ่งกว่า 214 ข้อจะทำได้หรือไม่

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image