สถานีคิดเลขที่ 12 : โครงการทางการเมือง

สถานีคิดเลขที่ 12 : โครงการทางการเมืองพรรคเพื่อไทยเคลื่อนขบวน

สถานีคิดเลขที่ 12 : โครงการทางการเมือง

พรรคเพื่อไทยเคลื่อนขบวนไปเยือนจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมคำขวัญ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ด้วยจังหวะลีลาอันหวือหวาคึกคัก

พร้อมๆ กันนั้น เรายังได้มองเห็น “โครงการทางการเมือง” ของเพื่อไทยที่ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

นับแต่การเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

จนถึงการต้อนรับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลับมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

Advertisement

การกลับเข้าพรรคเพื่อไทยของณัฐวุฒิดูจะมี “ฟังก์ชั่น” อยู่อย่างน้อยๆ สองประการ

ประการแรก เพื่อเรียกความมั่นใจจาก “คนเสื้อแดง” ในยุคสมัยที่ฝ่ายประชาธิปไตยมี “ตัวเลือกทางการเมือง” มากกว่าหนึ่งทาง

นอกจากนั้น นี่ยังเป็นความพยายามที่จะยึดโยงพรรคเข้ากับบรรดา “คนรุ่นใหม่” ที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูง

Advertisement

แม้อดีตผู้นำ นปช. จะไม่ได้พูดจาภาษาเดียวกับคนรุ่นหลัง หรือเข้าอกเข้าใจพวกเขาแบบครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ณัฐวุฒิก็เคยผ่านประสบการณ์การทำ “คาร์ม็อบ” มาแล้ว และเคยเป็น “รุ่นพี่ในเรือนจำ” ที่คอยช่วยเหลือ-ให้กำลังใจน้องๆ มาก่อน

พูดอีกอย่างคือ ณ ตอนนี้ ณัฐวุฒิอาจถือเป็น “คนเพื่อไทย” ที่สื่อสารกับ “คนรุ่นใหม่” ได้ดีที่สุด

กลับมาที่ปฏิบัติการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ที่ศรีสะเกษ นี่คือการทำงานอันหวังผลชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องแย่งชิง-ยึดกุมคะแนนเสียงในภาคอีสาน โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นคู่แข่งสำคัญ

ในบริบทของการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้คือ “โครงการทางการเมือง” ที่เริ่มก่อตัวขึ้น

ยังขาดเพียงแค่นโยบายหลักที่จะใช้ในการหาเสียง ว่าจะเรียก “เสียงว้าว” ได้มากน้อยแค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิใจไทยที่เป็นเหมือน “คู่กรณี” รายล่าสุดของเพื่อไทย ก็มี “โครงการทางการเมือง” ที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่ากัน

แม้การเร่งผลักดัน-ปลดล็อก “กัญชาเสรี” ตามนโยบายหาเสียงข้อสำคัญของพรรคในการเลือกตั้งหนก่อน จะมีช่องโหว่รูว่างให้วิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีทางการเมืองกันได้พอสมควร

เช่นเดียวกับการเก็บเล็กผสมน้อยดึงดูด ส.ส. จากพรรคต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็น “การเล่นการเมืองแบบเก่า”

แต่ทั้งหมดนี้คือ “โครงการทางการเมือง” ที่ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพตรงกันว่าภูมิใจไทยมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเป็น “พรรคการเมืองใหญ่” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

และอาจมิได้มีสถานะเป็นเพียง “ตัวแปรทางการเมือง” ทว่า น่าจะกลายเป็น “หนึ่งในผู้กำหนดเกม” เลยด้วยซ้ำ

หันไปยังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏการณ์ที่ร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” และ “สมรสเท่าเทียม” ต่างได้รับความเห็นชอบในวาระแรก ก็มีนัยสำคัญ

นอกจากการจับตาไปที่สถานการณ์ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ หันมายกมือโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน สวนทางกับมติพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว

นี่ยังถือเป็น “ผลงานทางด้านนิติบัญญัติ” ของพรรคการเมืองใหม่อย่างก้าวไกล ที่ขยับเขยื้อนจากการเล่นบทบาทเป็นนักอภิปราย-นักวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่าน “การพูด” และแนวทาง “พรีเซนเทชั่น” อันทันสมัย มาสู่การมี “ผลงานเชิงรูปธรรม” เท่าที่ฝ่ายค้านหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถกระทำได้

ผลงานดังกล่าวย่อมมีสถานภาพเป็น “โครงการทางการเมือง” ที่ถูกนำไปขยายผลต่อในการเลือกตั้งหนหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย

ดูเหมือนตัวละครหลักทางการเมืองกลุ่มเดียวที่ยังไม่มี “โครงการทางการเมือง” สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า ก็คือ พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ซึ่งทำงานการเมืองไปวันๆ โดยไม่มีการรุกคืบแย่งชิงพื้นที่ ไม่มีพลังจะสานต่อหรือคิดค้นนโยบายที่ประชาชนสามารถจับต้องได้อีกแล้ว

นี่คือการนับถอยหลังเข้าสู่สภาวะหมดอำนาจ ท่ามกลางคะแนนนิยมและคะแนนความเชื่อมั่นที่ลดน้อยถอยลงตามลำดับ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image