สถานีคิดเลขที่ 12 : โอนงานจราจร???

สถานีคิดเลขที่ 12 : โอนงานจราจร???

สถานีคิดเลขที่ 12 : โอนงานจราจร???

พอบอกว่าต้องปฏิรูปตำรวจ ไม่ว่าใครก็ต้องสนับสนุน รู้สึกกันทันทีว่าเป็นองค์กรที่มากด้วยปัญหา จำเป็นต้องผ่าตัดปรับปรุงยกใหญ่ ตอนนี้ที่กำลังเร่งมือกันก็คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปฏิรูปองค์กรสีกากีนั่นเอง

ร่าง พ.ร.บ.นี้กำลังเร่งพิจารณาโดยรัฐสภา และจำเป็นต้องสะกิดเตือนว่า หลักสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ คือ แก้ปัญหาขององค์กร ไม่ให้เป็นเครื่องมือการเมือง แก้การวิ่งเต้น แก้เรื่องการใช้อำนาจมิชอบ

รวมทั้งปฏิรูปเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ผ่าหั่นกันแบบใช้อารมณ์ จนหมดประสิทธิภาพ แล้วนั่นผลเสียจะตกแก่ชาวบ้าน ในด้านการป้องกันความปลอดภันในชีวิตและทรัพย์สิน

ดังเช่น ในมาตราที่เกี่ยวกับการโอนหน่วยงานที่ไม่ใช่งานตำรวจโดยตรงออกไป เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจปราบปรามความผิดด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจราจร แต่ใช้คำว่าบางส่วน

Advertisement

ประเด็นงานจราจรนี่แหละ น่าเป็นห่วง แม้จะใช้คำว่าโอนบางส่วน แต่ก็คือ ภารกิจของตำรวจจราจรสำคัญๆ ซึ่งจะโอนไปให้ กทม. และท้องถิ่นต่างๆ

คนที่ผลักดันเรื่องนี้ น่าจะไม่เคยสอบถามตำรวจ หรือสอบถามนักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

ถ้าสอบถามจะรู้ว่า ตำรวจจราจรนั้น เป็นงานที่เกี่ยวพันกับงานตำรวจโดยรวมอย่างแยกกันไม่ออก

Advertisement

ตำรวจจราจร ประจำอยู่บนท้องถนนทั่วทุกจุด ทุกแยก อาจจะเห็นแค่โบกรถ จับคนทำผิดกฎหมายจราจร จับพวกจอดรถผิดที่

แต่พร้อมๆ กัน ตำรวจจราจรต้องพร้อมร่วมปฏิบัติงานด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทันทีที่มีเหตุ เช่น สกัดจับรถขนสิ่งของผิดกฎหมาย ซึ่งหลบหนีตำรวจหน่วยอื่นมาบนถนน ซึ่งมีแต่ตำรวจจราจรเท่านั้นที่พร้อมสุด เพราะประจำอยู่บนถนนอยู่แล้ว

รวมไปถึงการตั้งด่านสกัด การตรวจค้นยาเสพติด ด่านเมาแล้วขับ การระงับเหตุร้ายต่างๆ

ทุกวันนี้ตำรวจจราจรล้วนพกปืน เพราะต้องพร้อมปราบปรามอาชญากรรมทันทีที่มีเหตุบนท้องถนน

หรือถ้ากล่าวเฉพาะงานอำนวยความสะดวกการจราจรชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น จะพบว่าต้องสัมพันธ์อย่างมากกับตำรวจจราจรในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ภายใต้การสั่งการของศูนย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ยิ่งเทศกาล ปีใหม่ สงกรานต์ หยุดยาว 3 วัน 4 วัน งานนี้ต้องสั่งการจราจรแบบทั่วประเทศ โดยโครงข่ายจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จึงน่าห่วงมากหากโอนงานจราจรไปขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นภาระที่หนักเกินไป แล้วจะประสานเป็นโครงข่ายกับจังหวัดปริมณฑล หรือกับทางหลวงทั่วประเทศเช่นไร

นี่แหละคือคำถามว่า ปฏิรูปตำรวจแล้ว นำมาซึ่งประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนได้ดีขึ้นหรือไม่ หรือว่ายิ่งลดลง

กรณีงานตำรวจจราจร หากโอนจากตำรวจ จะมีผลต่อปริมาณตำรวจบนถนนที่พร้อมจะร่วมปราบปรามอาชญากรรมได้ทันท่วงที ใช่หรือไม่

ไปจนถึงความสามารถในการจัดการจราจรเชื่อมโยงกับจังหวัดปริมณฑลต่างๆ ยันทางหลวงทั่วประเทศได้ดีหรือไม่

เช่นนี้กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนแน่นอน

ลองหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกับชาวบ้านที่ขับรถรา เขาฟังแล้วก็รู้สึกกังวล เพราะทุกวันนี้เช้าและเย็น ยังหวังพึ่งพาตำรวจจราจรได้อยู่

ลองไปถามอาจารย์นักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน หลายคนก็เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มองผิดประเด็น ในกรณีตำรวจจราจร

อีกทั้งมีข้อมูลว่า หลายประเทศทั่วโลกยังใช้หลักงานจราจรขึ้นกับตำรวจอยู่

คงต้องยืนยันว่า ในมาตราที่เกี่ยวกับการโอนหน่วยงานที่ไม่ใช่ภารกิจของตำรวจโดยตรงนั้น ควรทบทวนกรณีที่คิดจะโอนย้ายงานตำรวจจราจร

เพราะงานตำรวจจราจรสัมพันธ์กับงานตำรวจหลักอย่างแยกกันไม่ออก

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image