สถานีคิดเลขที่ 12 : อ่านผล ‘นิด้าโพล’

“นิด้าโพล” เพิ่งเผยแพร่ผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565 ออกมา
ผลปรากฏว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในฐานะบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมตามมาเป็นอันดับสองในทั้งสองหมวด

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนิยมอยู่ในลำดับที่สาม

หากพิจารณาผลการสำรวจของนิด้าโพล อย่างสืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภา กทม. ซึ่งอาจส่งแรงผลักต่อเนื่องไปยังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

Advertisement

นี่ก็เป็นโพลที่มีนัยยะทางการเมืองน่าสนใจหลายประการ

ประการแรก พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งสุดในสนามเลือกตั้ง เมื่อผนวกกับหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยอย่างแพทองธาร ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็น
“คนรุ่นใหม่” ทั้งยังเป็น “สายเลือดโดยตรง” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ความแข็งแรงก็ยิ่งถูกเพิ่มเสริมให้หนักแน่นมากขึ้น

นับจากนี้ จุดท้าทายภาวะผู้นำของแพทองธารและพรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หากอยู่ที่คู่เทียบเคียง เช่น ผู้ว่าฯกทม.หน้าใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ซึ่งกำลังมีคะแนนป๊อปปูลาร์สูงขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

การสวมบทบาทผู้นำสาธารณะที่ขยันขันแข็ง การเปล่งฉายบารมี (ในลักษณะกึ่งเล่นกึ่งจริง กึ่งพักผ่อนสบายๆ กึ่งทำงานอย่างเข้มข้นจริงจัง) และการแสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมความมั่นใจ ดังที่ชัชชาติทำเท่านั้น ที่จะช่วยให้พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของแพทองธาร ได้คะแนนเสียงในระดับแลนด์สไลด์-ฉันทามติ

ประการที่สอง พรรคก้าวไกลและพิธายังคงมีฐานผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยที่เหนียวแน่น ข้ามผ่านระยะเวลา 3 ปี แห่งการเผชิญหน้ากับมรสุมทางการเมืองลูกแล้วลูกเล่า

ในแง่หนึ่ง ผลนิด้าโพลตอกย้ำว่าการนำเสนออุดมการณ์ที่ถูกมองว่า “สุดขั้วเกินไป” สำหรับพรรคการเมืองในระบบ นั้นยังได้รับการตอบรับจากประชาชนบางส่วน (ซึ่งแปรออกมาเป็นคะแนนที่สูงพอสมควร) แต่ฐานคะแนนนิยมดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีมากพอ ที่จะทำให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในฐานะพรรคการเมือง/ผู้นำการเมืองอันดับหนึ่ง

ประการที่สาม “พลังประชารัฐแผ่วหนัก ประยุทธ์แผ่วลง” คือสารของนิด้าโพล ซึ่งช่วยตอกย้ำข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านผลเลือกตั้งระดับต่างๆ ในขวบปีนี้ บารมีของผู้นำประเทศเมื่อเทียบกับผู้นำท้องถิ่น เรื่อยมาถึงการถูกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐ เอ่ยปากสั่งสอนในที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเชื่อตามคะแนนนิยมรอบล่าสุดของนิด้าโพล นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีสถานะเป็น “ตัวเลือกอันดับแรก”ของ “โหวตเตอร์ฝ่ายอนุรักษนิยม”

แต่เราต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็เคยมีตำแหน่งแห่งที่แบบเดียวกันนี้ในแทบทุกโพล ทว่า พอถึงวันเลือกตั้งจริง เขากลับได้คะแนนน้อยกว่า สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ สกลธี ภัททิยกุล เสียอีก

ป ระการสุดท้าย มีความเป็นไปได้ว่า พรรคการเมืองอันดับหนึ่งและอันดับสองในการเลือกตั้งทั่วไปหนหน้า อาจมิได้เป็นสองตัวแทนของขั้วการเมือง “ก้าวหน้า” กับ “อนุรักษนิยม” ที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่เป็นพรรคการเมืองจาก “ขั้วประชาธิปไตย” เหมือนกัน
ดังเช่นผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. ซึ่งเมื่อประเมินภาพรวมแล้ว คะแนนเสียงส่วนใหญ่เทมาอยู่ที่ “ชัชชาติ-เพื่อไทย-ก้าวไกล”

ประเด็นท้าทายในอนาคตข้างหน้า จึงอยู่ที่ว่าทั้งสองพรรคการเมืองนี้จะสามารถกุมคะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้หรือไม่?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image