สถานีคิดเลขที่ 12 : อดคิดไม่ได้

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากันในสังเวียนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม

พรรคฝ่ายค้านประกาศคว่ำรัฐมนตรีคาสภา หรือถ้าสู้เสียงโหวตข้างมากไม่ได้ก็เชื่อว่า ข้อมูลที่นำเสนอจะตามไปฆ่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ออกอาการมั่นใจ เชื่อมั่นรัฐมนตรีทุกคนสามารถผ่านสังเวียนนี้

ทุกคนจะได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

Advertisement

นอกจากนี้ ยังบอกให้พรรคฝ่ายค้านระวังตัว เพราะบางข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านคิดว่าจะทำให้รัฐมนตรีเงิบนั้น พรรคฝ่ายค้านก็อาจจะเงิบเสียเอง

ท่ามกลางสมรภูมิเดือดระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาล ได้ปรากฏตัวแปรที่ทุกฝ่ายจับตามอง

ตัวแปรแม้จะไม่สามารถโค่นรัฐมนตรีได้ แต่ก็ทำให้คะแนนเสียงของรัฐมนตรีแต่ละคนไม่เท่ากันได้

Advertisement

ตัวแปรดังกล่าว หนึ่ง คือพรรคเศรษฐกิจไทย มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้า มีเสียงอยู่ในมือประมาณ 15 เสียง อีกหนึ่ง คือกลุ่ม 16 ที่มีนายพิเชษฐ สถิรชวาลออกมาเคลื่อนไหว รวมไปถึงกลุ่มพรรคเล็กขนาดพรรคละ 1 เสียง และพรรคละ2 เสียง

แต่ดูเหมือนว่าพรรคเศรษฐกิจไทยและกลุ่ม 16 จะเคลื่อนไหวเป็นข่าวได้ทุกวัน

กลายเป็นความหวังของกองแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และกลุ่ม 16 นั้น กลับมีเยื่อใยกับ พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ อย่างไม่ปิดบัง

ไม่ปิดบังถึงขนาดบอกเจตนาการโหวตเอาไว้ก่อนการอภิปราย

ไม่แตะต้องบิ๊กป้อม

ตอกย้ำกับการเข้าพบ พล.อ.ประวิตร เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ ร.อ.ธรรมนัส จะเข้าไปเพื่อ “กราบลา” ประกาศหันหลังให้รัฐบาล และขอกระโดดเข้าไปอยู่ข้างประชาธิปไตย

แต่ดูจากเยื่อใยที่มีต่อกันแล้ว พรรคฝ่ายค้านที่มองมา ย่อมไม่ไว้วางใจเป็นแน่

ในวันเดียวกันกับที่ ร.อ.ธรรมนัสเข้าพบ พล.อ.ประวิตร กลุ่ม 16 และแกนนำพรรคเล็กได้เดินทางเข้าไปร่วมรับประทานอาหารกับบิ๊กป้อม

กลายเป็นข่าวและภาพข่าวปรากฏให้เห็นกันจะจะ

นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม บอกว่า พล.อ.ประวิตรขอให้โหวตสนับสนุนรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน และเปรยด้วยว่าเสียงของรัฐมนตรีแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่อย่าให้ห่างกันเยอะเกินไป สำหรับกลุ่ม 16 จะคุยกันอีกครั้งในวันที่ 22 กรกฎาคม ก่อนโหวตในวันที่ 23 กรกฎาคม

การเคลื่อนไหวที่เปิดเผยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายมีการต่อรองอะไรกันหรือไม่

เหตุการณ์จะซ้ำรอยกับกระแสข่าวการต่อรองในช่วงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ทำให้เสียงของพรรคเล็ก และพรรคเศรษฐกิจไทยดังขึ้น

และจะซ้ำรอยกับการพลิกเกม “หาร 100” เป็น “หาร 500” เอาใจพรรคเล็ก และสกัดเป้าหมายแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. หรือเปล่า

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เสียงโหวตในวันที่ 23 กรกฎาคมนั้น

เป็นการโหวตเพื่อใคร

เพื่อ ประชาชน หรือ พรรค หรือ พวก

หรือเพื่อตัวเอง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้น่าติดตาม

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image