สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘วาระ 8 ปี’ มาจากไหน?

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘วาระ 8 ปี’ มาจากไหน?

ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ควรจะเริ่มนับกันเมื่อใด? และควรไปสิ้นสุดลงตรงจุดไหน?

รวมถึงการคาดเดาถึงอนาคตการเมืองไทยจากความกำกวมคลุมเครือดังกล่าว

อยากชวนผู้อ่านทุกท่านถอยห่างออกมาสักนิด เพื่อพินิจพิเคราะห์ถึงที่มาของแนวคิดการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ

ผ่านเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบมติชนทีวีเอาไว้

Advertisement

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“ผมอยากจะปูพื้นฐานนิดหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว เรื่องที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ในทางหลักการของรัฐธรรมนูญ เขาเรียกว่า บทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Term Limits) คือการที่รัฐธรรมนูญพยายามที่จะมุ่งหมายในการเข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจและป้องกันการผูกขาดการใช้อำนาจ

“บทบัญญัตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเป็นประเทศแรก ถ้าสืบสาวไปมันมาตั้งแต่สมัยโบราณที่มันโด่งดังจากรัฐธรรมนูญอเมริกา ที่เข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจของตัวประธานาธิบดี ฉะนั้น เขาจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ

Advertisement

“ประเด็นที่ผมอยากจะเพิ่มเติมให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของมันลึกซึ้งมากขึ้น และผมคิดว่ามันมีมากกว่าการผูกขาดการใช้อำนาจ เราต้องเข้าใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงพยายามป้องกันการผูกขาด เพราะมันมีผลกระทบที่รุนแรงมาก

“หนึ่ง คนที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ มีการผูกขาดอำนาจ มันเป็นหลักการในทางรัฐธรรมนูญ แล้วก็เป็นงานวิจัยทั่วโลกในทางรัฐธรรมนูญเขาทำกันมาหมดแล้ว ก็คือว่าเนื่องจากตัวเองมีอำนาจเยอะ ก็จะเริ่มเข้าไปแทรกแซงการทำงาน ไปควบคุมการทำงานของสถาบัน องค์กรทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ

“สอง เมื่อเขาควบคุมตัวหน่วยงานองค์กรต่างๆ ได้ เขาก็จะควบคุมกฎหมายได้ นั่นหมายถึงว่าบางครั้งการใช้กฎหมายก็จะไปยึดโยงกับผู้มีอำนาจที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บางครั้งมันส่งผลทำให้ตรวจสอบไม่ได้ เพราะว่าเขาควบคุมองค์กรไปแล้ว

“สาม ถ้าพูดกันในเชิงเทคนิคแล้ว ถ้าสมมุติไม่ได้มีการจำกัดวาระ แล้วปล่อยให้มีการอยู่ยั้งยืนยงแบบนี้ มีการผูกขาดการใช้อำนาจแบบนี้ เมื่อเขาควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ได้ เขาควบคุมการใช้อำนาจผ่านตัวบทกฎหมายได้ ฉะนั้น ผลในการเลือกตั้งก็จะถูกควบคุมกำกับได้

“ลองสังเกตให้ดีจะพบว่า ถ้ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหาศาล ไม่ได้มีการกระทำที่มันผิดต่อตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจนรุนแรง โดยมากประธานาธิบดีหรือใครที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หัวหน้าของฝ่ายรัฐบาลในต่างประเทศ ถ้าเขาชนะการเลือกตั้งครั้งแรก แล้วครั้งต่อไปเขาไม่พลาดหรอก

“เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาได้เปรียบ เขามีข้อมูล มีเครื่องมือกลไกต่างๆ หน่วยงานต่างๆในภาครัฐที่อยู่ในการควบคุมของเขา ฉะนั้น มันจึงส่งผลเกี่ยวกับเรื่องของการควบคุมผลการเลือกตั้งได้

“สี่ ถ้าเขาอยู่นานๆ เขามีอำนาจเยอะๆ แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วเสียงประชาชนจะไม่ได้รับการฟัง เขาจะไม่ค่อยสนใจประชาชนมาก เพราะว่าอำนาจทุกอย่างอยู่กับเขา เขาสามารถสั่งการตรงนู้นตรงนี้ตรงนั้นได้ บางครั้งการที่จะมีการคัดค้านอะไรต่างๆ นานา มันอาจจะไม่ได้เป็นผลมากนัก

“สิ่งๆ นี้มันคืองานวิจัยที่ปรากฏอยู่ทั่วโลก ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ฉะนั้น เมื่อเสียงประชาชนเริ่มไม่ได้รับความสนใจ เราเริ่มเห็นภาพแล้วนะว่ามันกระทบกับระบอบประชาธิปไตย

“หลักการของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่มองว่า ถ้าเราไม่ได้มีการเข้าไปจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือตัวนายกฯ มันเป็นอุปสรรค มันเป็นการขัดขวางแนวความคิดใหม่ๆ คนที่อยากจะมาเป็นตัวเลือก อยากจะเข้ามาแทนที่เขา มัน (เข้ามา) ไม่ได้ ประชาชนก็จะได้รับนโยบายเดิมๆ ข้อมูลเดิมๆ ก็จะอยู่กันแบบนี้…”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image