สถานีคิดเลขที่ 12 : 1 ประเทศ 2 นายกฯ

1 ประเทศ 2 นายกฯ

สถานีคิดเลขที่ 12 : 1 ประเทศ 2 นายกฯ 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
กระนั้นก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับยังเลือกจัดวางบทบาททางการเมืองของตนเอง ว่าจะเดินหน้าปฏิบัติงานในฐานะ รมว.กลาโหม ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ แทนที่ในระหว่างยังไม่มีผลลัพธ์ทางนิตินัยออกมาชัดเจนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จะหยุดทำงานการเมืองไปก่อนในทางพฤตินัย เพื่อรอคอยกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า นายกฯ ผู้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กลับไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหวเสียทีเดียว

ลำพังการออกแอ๊กชั่น รมว.กลาโหม พอเป็นพิธี อาจไม่ชวนงุนงงมากนัก

Advertisement

แต่บางครั้งก็มีเรื่องล้ำเส้นชวนสับสนกว่านั้น เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ ไปออกตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ในวันหนึ่ง ณ พื้นที่หนึ่ง

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปทำงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกวัน ณ อีกพื้นที่

หรือการที่ รมว.กลาโหม เชิญ รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย รมว.มหาดไทย เข้าพบ พร้อมเผยแพร่ภาพให้สื่อ ก็เป็นเหมือนการโชว์พลังบางอย่าง มากกว่าจะเป็นการหารือพูดคุยปกติ

Advertisement

เมืองไทยตอนนี้จึงมีสภาพเป็น “1 ประเทศ 2 นายกฯ”

ถ้าคิดอะไรไปไกลหน่อย การเมืองบ้านเราในขณะนี้ทำให้นึกถึงสองเรื่อง

เรื่องแรก ในยุคหนึ่ง ประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา ก็เคยมีนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ 2 คนเช่นกัน

แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะหลังสงครามกลางเมือง เพิ่งเปลี่ยนผ่านระบอบการเมือง เพิ่งเริ่มกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และยังต้องมีการประนีประนอมระหว่างกลุ่มอำนาจหลายฝ่าย

ทว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ คงไม่ได้อยู่ในสภาพการณ์ทำนองนั้น และ “นายกฯ 2 คน” ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของขั้วอำนาจหลายฝ่าย แต่มาจากบ่อเกิดทางอำนาจแหล่งเดียวกัน

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ถ้าใครชอบดูกีฬามวยสากล ก็ย่อมพอจะทราบว่าสถาบันมวยระดับโลกยุคหลังๆ มักชอบหากินด้วยการสร้างตำแหน่งแชมป์ขึ้นอย่างมากมาย

ในพิกัดน้ำหนักหนึ่งๆ จึงอาจมีทั้งแชมป์แฟรนไชส์หรือซุปเปอร์แชมป์ (ที่โฆษณาว่ายิ่งใหญ่กว่าแชมป์ตัวจริง), แชมป์โลกตัวจริง, แชมป์เฉพาะกาล รวมถึงแชมป์เข็มขัดเงิน วุ่นวายไปหมด

ไม่แน่ใจว่าในการเมืองไทยปัจจุบัน ใครกันแน่ที่เป็น “แชมป์ตัวจริง” หรือต่างเป็น “แชมป์ปลอม” กันหมด?

ย้อนกลับมายังเรื่องราวภายในสังคมไทย

หากพิจารณาสภาวะ “1 ประเทศ 2 นายกฯ” ในเชิงเปรียบเทียบ

เราจะพบว่า ด้านหนึ่ง รักษาการนายกฯ อย่าง พล.อ.ประวิตร ก็แข็งแรงกระฉับกระเฉงขึ้นทันตา พร้อมแสดงวิสัยทัศน์บางประการออกมา (มากกว่าการ “ไม่รู้ๆ”)

เช่น การแสดงให้เห็นว่าเขาคือนักการเมืองที่มีลักษณะพร้อมเดินเข้าหาประชาชน

หรือการพยายามประสานงานกับนักการเมืองฝ่ายอื่นๆ เช่น การโทรศัพท์คุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มากกว่าหนึ่งครั้ง เรื่องการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วม

คล้ายกับว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มาเป็นแค่รักษาการผู้นำประเทศ แต่กำลังโชว์ศักยภาพเพื่อหวังผลระยะยาวกว่านั้น

อีกด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่กระทรวงกลาโหม ก็ยังคงเป็นผู้นำคนเดิม ที่ทิ้งระยะห่างจากประชาชน และวางตัวเหนือนักการเมืองคนอื่นๆ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

มีอีกประเด็นที่ฟังดูพิลึกมาก คือ การที่รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้ข่าวว่าพาคุณหมอไปตรวจดูอาการของ รมว.กลาโหม ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพผิวหนัง

ในฐานะ “เรื่องเล่า” เรื่องหนึ่ง นี่นับเป็น “เรื่องเล่า” ที่ดูไม่ค่อยเป็นคุณกับ“ผู้ถูกเล่า” สักเท่าไหร่

เช่น ในประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก (ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชอบเน้นย้ำว่าเด็กๆ รุ่นหลังควรเรียนรู้) ผู้นำที่มีปัญหาโรคผิวหนังก็ไม่ได้ถูกเขียนบรรยายถึงในแง่มุมที่ดีนัก

มิหนำซ้ำ ลักษณะอปกติดังกล่าวยังถูกนำไปผนวกรวมเข้ากับการรักษาอำนาจและบ้านเมืองเอาไว้ไม่ได้อีกด้วย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image