สถานีคิดเลขที่ 12 : ผลตัดสิน 8 ปี

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผลตัดสิน 8 ปี

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผลตัดสิน 8 ปี

ใกล้ได้บทสรุปและความชัดเจน กรณีคำร้องที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่

ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติไว้ด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ประกอบกับมาตรา 264 ที่บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

Advertisement

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี โดยยึดแนวทางตามคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

จะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นการทำหน้าที่นายกฯ และส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นการทำหน้าที่ไปด้วย กระบวนการต่อไปในทางการเมือง คือ ที่ประชุมรัฐสภาต้องประชุมเพื่อร่วมกันคัดเลือก นายกฯ คนใหม่ จากบัญชีพรรคการเมืองที่เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา หากเลือกนายกฯจากในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ก็จะมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ปลดล็อกให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเลือกนายกฯ จากนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในแนวทางที่เป็นบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ จากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568

Advertisement

ขณะที่อีกแนวทาง คือ เริ่มนับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570

แม้หลายฝ่ายต่างเฝ้ารอและคาดหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวไม่ควรจะใช้เวลาที่มากเกินไป เนื่องจากเป็นปัญหาในข้อเท็จจริงทางด้านกฎหมาย

หากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถูกร้อง คือ ทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ และพยานที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งคำชี้แจง อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.ฉบับปี 2560 ส่งคำชี้แจงครบถ้วนแล้ว ก็น่าจะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวด้วยเวลาที่ไม่นานมากนัก

เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกมาในแนวทาง “บวก” หรือ “ลบ” ต่อสถานะนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่ามีบทสรุปในทางนิติศาสตร์ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร แม้อาจจะมีบางฝ่ายเห็นแย้งกับคำวินิจฉัย ซึ่งเกิดขึ้นได้ในการตีความทางด้านกฎหมาย

ส่วนผลของคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image